วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์

สังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ - ๓ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔)
สังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกันสังคมไทยสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี เป็นสังคมศักดินา มีการแบ่งชนช้้นของคนในสังคมแบ่งออกเป็น ๖ กลุ่ม
๑.  พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขสูงสุดของอาณาจักรทรงเป็นเสมือน "เจ้าชีวิต" และ "เจ้าแผ่นดิน" ของบรรดาผู้คนและแผ่นดินในสังคมไทย
๒.  พระราชวงศ์ หมายถึง บรรดา "เจ้านาย" ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือญาติของพระมหากษัตริย์บางทีเรียกว่า "พระบรมวงศานุวงศ์" มี ๒ ประเภท คือ สกุลยศ กับ อิสรยศ
  • สกุลยศ คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และ หม่อมเจ้า
  • อิสริยศ คือ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ และกรมสมเด็จพระ
๓.  ขุนนาง คือ กลุ่มบุคคลที่รับราชการแผ่นดิน มีศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่งเป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ ยศของขุนนางมี ๘ ลำดับ ได้แก่ พัน หมื่น ขุน หลวงพระ พระยา เจ้าพระยา และสมเด็จเจ้าพระยา
๔.  พระสงฆ์ เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือจากสังคมและคนทุกชนชั้น ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนไพร่สามัญชน และไม่มีศักดินาเหมือนชนชั้นอื่น ๆ
๕.  ไพร่ คือ ราษฎรสามัญชนที่เป็นชายฉกรรจ์ในสังกัดของมูลนาย ไพร่มี ๒ ประเภท คือ
  • ไพร่หลวง คือ ไพร่ของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานให้แก่กรมกองต่าง ๆ ถ้าไพร่หลวงคนใดส่งเงินหรือสิ่งของมาแทนการเข้าเวรรับราชการจะเรียกว่า "ไพร่ส่วย"
  • ไพร่สม คือ ไพร่ในสังกัดของมูลนาย (พระบรมวงศานุวงศ์ หรือ ขุนนาง)
๖.  ทาส คือ กลุ่มคนที่มีฐานะต่ำสุดในสังคมไทย ไม่มีกรรมสิทธิ์ในชีวิตของตนเอง มีหน้าที่รับใช้แรงงานให้นายโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน นายเงินเจ้าทาสจะลงโทษแต่ห้ามมิให้ถึงตาย ทาสมีศักดินาได้ ๕ ไร่ ทาสเพิ่มจำนวนขึ้นมากส่วนใหญ่เกิดจากการมีหนี้สินจนต้องขายตัวเอง หรือบุตรภรรยาลงเป็นทาส เช่น ได้รับอนุญาตจากนายเงินเจ้านายของทาสให้บวชเป็นพระสงฆ์ หรือตกเป็นภรรยาและลูกกับเจ้าของทาส

ลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ
สมัยรัชกาลที่่ ๔ อังกฤษได้ส่งทูตมาเจรจาทำสัญญากับไทยคือ เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบฝ่ายอังกฤษอยู่หลายประการ จึงมีผลให้ไทยต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีชีวิตความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว

สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปสังคมให้ทันสมัยหลายด้าน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
          ๑.  การยกเลิกระบบไพร่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายเกณฑ์ทหาร (พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔) ให้ชายฉกรรจ์ที่มีอายุครบ ๑๘ ปี บริบูรณ์ต้องเข้ารับราชการเป็นทหาร ๒ ปี จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ยกเลิกระบบไพร่ของประเทศไทยโดยสมบูรณ์
          ๒.  การเลิกทาส ทรงดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ตรากฎหมายเลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร (พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. ๑๒๔) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ห้ามมิให้มีการซื้อขายทาสอีกต่อไป
          ๓.  การปฏิรูปการศึกษา รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนและระบบการศึกษาแผนใหม่ตามแบบสังคมตะวันตก เพื่อเตรียมคนเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่และเป็นกำลังพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนี้
  • จัดตั้งโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง มีชื่อว่า "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ)
  • จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรสามัญชน โรงเรียนแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
  • จัดตั้งกรมศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อดูแลจัดการศึกษาของชาติ เช่น จัดทำหลักสูตร การเรียนการสอน จัดทำหนังสือแบบเรียน
สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงปฏิรูปการศึกษาต่อมา เช่น การประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นการบังคับให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยในสมัยประชาธิปไตย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ ไม่มีสังคมศักดินา ไพร่ และทาส ทุกคนในสังคมไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การจำแนกระเบียบสังคมมิได้แยกออกตามฐานะของระบบศักดินา แต่จำแนกออกตามฐานะของอาชีพ ได้แก่ ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ประกอบการสาขาอาชีพต่าง ๆ ปัญญาชน เช่น ครู อาจารย์ นักวิชาการต่าง ๆ กรรมกร และชาวไร่ชาวนา

ศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ - ๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔) เป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่นอกจากนี้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวัฒนธรรมในยุคนี้ด้วย

ลักษณะศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สำคัญมีดังนี้
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการทำนุบำรุงทางด้านศิลปกรรม
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม
          รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นอกจากนี้ยังให้จัดสร้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


          รัชกาลที่ ๒ ทรงสนพระทัยในการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่าง ๆ โปรดให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แต่สร้างสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๓


          รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดบวรนิเวศวิหาร วัดกัลยาณมิตร และวัดประยูรวงศ์ นอกจากนี้ให้สร้างเรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐที่วัดยานนาวา


๒.  ด้านประติมากรรม
           รัชกาลที่ ๑ พระองค์มิใคร่จะได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์โบราณที่ทิ้งไว้ทรุดโทรมที่เมืองเหนือลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์ถึง ๑,๒๐๐ องค์เศษ
          รัชการที่ ๒ พระพุทธรูปมักมุ่งเอาความสวยงามทางลวดลาย
          รัชการที่ ๓ เครื่องประดับของพระพุทธรูปเป็นหลัก

๓.  ด้านจิตรกรรม
ภาพเขียนในสมัยนี้คงความศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย แต่มีศิลปะจีนอยู่บ้าง ภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ มักใช้สีและปิดทองลงบนภาพเขี้ยน
          รัชกาลที่ ๑ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร วัดระฆังโฆษิตาราม
          รัชกาลที่ ๓ ภาพเขียนพระอุโบสถ และพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามและในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม กรุงเทพฯ


๔.  ด้านประณีตศิลป์
งานประณีตศิลป์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคงทำตามรูปแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น งานแกะสลักบานประตูไม้สัก (ลายจำหลักไม้) วัดสุทัศน์เทพวราราม ฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

๕.  ด้านนาฏศิลป์
          รัชกาลที่ ๑ ส่งเสริมทางด้านการดนตรีและการฟ้อนรำ มีการจัดตั้งโขนทั้งวังหลวง และวังหน้าของตนเอง
          รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะแทละท่ารำต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง
          รัชกาลที่ ๓ พระองค์ไม่ทรงโปรดให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง แต่ก็มีผู้มีฐานะมีตระกูลให้ความสนใจกับศิลปะประเภทนี้

๖.  ด้านวรรณกรรม
          รัชกาลที่ ๑ ทรงสนพระทัยในด้านวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ และแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น สามก๊ก และราชาธิราช


          รัชกาลที่ ๒ เป็นยุคทองของวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ งานพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ บทละครเรื่องอิเหนา
          รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงสนับสนุนการแปลและเรียบเรียงวรรณคดีของประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เช่น เรื่อง "มิลินทปัญญา"

การเปลี่ยนแปลงศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างให้ทันสมัยตามแบบอย่างของชาติตะวันตก มีดังนี้
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม สถานที่ราชการและพระราชวังเริ่มนิยมสร้างแบบศิลปะตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ และพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
๒.  ด้านจิตรกรรม จิตรกรสมัยนี้เริ่มเขียนภาพเหมือนจริง มีแรเงา และมีรูปทรงความลึก ความกว้าง ตามแบบศิลปะตะวันตก จิตรกรคนแรกที่เขียนภาพแบบนี้คือ พระภิกษุ "ขรัวอินโข่ง" แห่งวัดราชบูรณะ
๓.  ด้านประณีตศิลป์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือพายพระที่นั่ง "อนันตนาคราช" โดยหัวเรือทำเป็นพญานาคเจ็ดเศียร
๔.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่างที่ล้าสมัย เช่น ทรงอนุญาตให้ชาวต่างประเทศนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าและแสดงความเคารพโดยการถวายคำนับ และทรงประกาศให้เจ้านายและขุนนางสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า เป็นต้น

การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลทีี่ ๕
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุงด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ทันสมัย ดังนี้
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม ผลงานที่สำคัญ คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นศิลปะแบบตะวันตกสร้างด้วยหินอ่อน และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ก่อสร้างเป็นตึกมีลักษณะเป็นศิลปแบบไทยผสมกับตะวันตก
๒.  ด้านวรรณกรรม โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "หอพระสมุดวชิรญาณ" เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารต่าง ๆ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน
๓.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี โปรดเกล้าฯ มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น ยกเลิกประเพณีหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้าของเจ้านายและขุนนางไทย แต่ให้ยืนหรือนั่งเก้าอี้ตามแบบชาวตะวันตก ยกเลิกผมทรงมหาดไทยของข้าราชการชายในราชสำนัก แต่ให้เปลี่ยนมาไว้ผมทรงสากลแบบฝรั่ง ยกเลิกการนุ่งผ้าโจงกระเบนของข้าราชการฝ่ายทหารทุกกรมกรอง แต่ให้สวมกางเกงขายาว สวมถุงเท้าและรองเท้า เป็นเครื่องแบบทหารตามแบบอย่างทหารในยุโรป
๔.  ด้านประเพณีการสืบสันตติวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีมาแต่เดิมและทรงสถาปนาตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร" ขึ้นแทน

การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมให้ทันสมัยรัชกาลที่ ๖
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการเปลี่ยนแปลงด้านศิลปวัฒนธรรมไทยให้เข้าสู่ความทันสมัย ดังนี้
๑.  ด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมไว้หลายประเภท เช่น บทละคร (เวนิสวาณิช) และงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นต้น
๒.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยตามแบบอย่างชาติตะวันตก เช่น
  • กำหนดให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ
  • ตราพระราชบัญญัตินามสกุล เพื่อให้คนไทยมีนามสกุล
  • กำหนดคำนำหน้านาม เช่น เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง และนางสาว
  • กำหนดให้ใช้ พ.ศ. (พุทธศักราช) และให้ยกเลิก ร.ศ. (รัตนโกสินทร์ศก)
  • ยกเลิกการนับเวลาเป็นทุ่มและโมง แต่ให้ใช้คำว่า "นาฬิกา" แทน
การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรม
๑.  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ ดังนี้คือ
  • ยกเลิกพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่มาเริ่มขึ้นอีกในรัชกาลปัจจุบัน
  • ให้ข้าราชการนุ่งกางเกงขายาวแทนนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน
๒.  นโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมของหลวงพิบูลสงคราม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ดังนี้คือ
  • เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ใน พ.ศ. ๒๔๘๒
  • ยกเลิกบรรดาศักดิ์ข้าราชการพลเรือน เช่น เจ้าพระยา พระยา พระหลวง ขุน หมื่น พัน (เมื่อนายควง  อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกคำประกาศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วคืนบรรดาศักดิ์ให้ข้าราชการดังเดิมใน พ.ศ. ๒๔๘๘
  • ตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๘๕
  • ประกาศรัฐนิยมต่าง ๆ ถึง ๑๒ ฉบับ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม เช่น ให้ใช้ช้อนส้อมแทนการเปิบข้าวด้วยมือ ไม่ส่งเสียงอื้อฉาวบนสะพาน สวมหมวก เสื้อนอก กางเกงขายาว นุ่งกระโปรง สวมรองเท้า เลิกกินหมาก
  • ยกย่องฐานะสตรีให้ทัดเทียมกับชาย
  • เปลี่ยนแปลงการนับวันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน เป็น ๑ มกราคม
  • ปรับปรุงตัวอักษรไทยใหม่ โดยตัดสระออก ๕ ตัว พยัญชนะออก ๑๓ ตัว คงเหลือพยัญชนะเพียง ๔๔ ตัว ตัวที่ตัดคือตัวที่มีเสียงซ้ำกัน จึงทำให้การเขียนเปลี่ยนไปด้วย เช่น กระทรวง เขียนเป็น กระซวง ฤทธิ์ เขียนเป็น ริทธิ์ ให้ เขียนเป็น ไห้ ทหาร เขียนเป็น ทหาน เป็นต้น
  • ให้ใช้เลขสากล (อารบิก) แทน เลขไทย
๓.  ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ (๒๕๐๖ - ๒๕๑๐) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังต่อไปนี้คือ
  • พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจงานสวนสนามของนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และตกแต่งโคมไฟตามสถานที่ราชการและบ้านเรือน และกำหนดให้วันนี้ คือ ๕ ธันวาคม เป็นวันชาติไทย แทนวันที่ ๒๔ มิถุนายน
  • พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา
  • พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้ากฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
  • พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหายาตราทางสถลมารค (การเสด็จเลืยบเมืองทางบก)
๔.  ในสมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร (๒๕๐๖ - ๒๕๑๖) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังนี้คือ
  • พระราชพิธีรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่รัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
  • พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ นับเป็นครั้งที่ ๓ ในประวัติศาสตร์ไทย
๕.  ในสมัยพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ปัจจุบัน) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังนี้คือ
  • การสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปีใน พ.ศ. ๒๕๒๕
  • การเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๕๓๐
  • พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดของชาติไทย เมื่อ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
วรรณกรรมและศิลปกรรม
๑.  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รูปแบบวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมมากในสังคมไทย คือ นวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดี
๒.  นวนิยายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการเลียนแบบตะวันตก มาเป็นแนวคิดของตนเองมากขึ้น และมิได้มุ่งความไพเราะงดงามอย่างเดียว แต่มุ่งถึงคุณค่าแก่ชีวิตด้วย
๓.  นักเขียนมีชื่อในระยะแรก ได้แก่ ศรีบูรพา ยาขอบ แม่อนงค์ ดอกไม้สด สดกูรมะโรหิต ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ฯลฯ
๔.  สถาปัตยกรรม มักนิยมสร้างตัวอาคารแบบตะวันตก แต่หลังคาทรงไทย เช่น
  • วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)
  • หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หอประชุมคุรุสภา
  • โรงละครแห่งชาติ
  • หอสมุดแห่งชาติ
  • ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ ฯลฯ
ส่วนอาคารแบบตะวันตก เช่น
  • อาคารถนนราชดำเนิน
  • พระราชวังไกลกังวล
  • ศาลาเฉลิมกรุง
  • สะพานพระพุทธยอดฟ้า
  • กระทรวงยุติธรรม
  • สะพานพระราม ๖
  • กรีฑาสถานแห่งชาติ
  • ไปรษณีย์กลาง
  • โรงแรมรัตนโกสินทร์
ประติมากรรม ที่สำคัญ ได้แก่
  • อนุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๘
  • อนุสาวรีย์พระนารายณ์
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
  • อนุสาวรีย์พ่อขุนรามฯ
  • อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
  • อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน ฯลฯ
  • พระพุทธรูปปางลีลา
  • พระพุทธรูป ภ.ป.ร.
จิตรกรรม ที่สำคัญได้แก่
  • ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงรอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • ภาพพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรผนังวัดสุวรรณดารามพระศรีอยุธยา

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๕๖ - ๖๔

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ลักษณะทางเศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์

เศรษฐกิจสมัยต้นรัตนโกสินทร์
          ลักษณะเศรษฐกิจแบบยังชีพ
         สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ก่อนเกิดสัญญาเบาว์ริง) สภาพเศรษฐกิจของไทยมีลักษณะเป็น "เศรษฐกิจแบบยังชีพ" เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ภายในท้องถิ่น ในส่วนรายได้ของหลวงได้มาจากภาษีประเภทต่าง ๆ เป็นหลัก ได้แก่
          จังกอบ คือ ภาษีที่เก็บจากสินค้าขาเข้า - ขาออก
          อากร คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการประกอบอาชีพของราษฎรที่ไม่ใช่การค้า เช่น ทำนา ต้องเสียอากรนา
          ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากราษฎร เมื่อขอให้ทางการจัดทำสิ่งใดได้ เช่น การออกโฉนดที่ดิน
          ส่วย มีหลายประเภทที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งของ หรือเงินทดแทนค่าแรงงานที่ราษฎรจ่ายให้เพื่อไม่ต้องเข้ามาทำงานให้ทางการ
          นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีรายได้มาจาก
          ๑.  กำไรจากการผูกขาดการค้าโดย "พระคลังสินค้า" เป็นหน่วยราชการที่ทำหน้าที่ค้าขายกับต่างประเทศ (สังกัดกรมคลังหรือกรมท่า)
          ๒.  การค้าเรือสำเภาหลวง โดยพระคลังทำหน้าที่แต่งเรือสำเภาหลวงนำสินค้าไปขายยังต่างแดน เช่น จีน ชวา มลายู
          การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๓
          ๑.  การประมูลผูกขาดการเก็บภาษีอากร เรียกว่า "ระบบเจ้าภาษีนายอากร"
          ๒.  เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นเงินที่ชาวจีนต้องเสียให้รัฐแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน
          ๓.  เงินค่าราชการ เป็นเงินที่ไพร่หรือราษฎรชายชาวไทยต้องให้รัฐแทนการเข้าเวรรับราชการ

เศรษฐกิจไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก
          สมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทำให้การค้ากับต่างประเทศมีความคล่องตัว และมีเสรีทางการค้ามากขึ้น
          สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีและการบริหารด้านภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พระองค์ทรงปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการคลังให้มีระบบที่ชัดเจนดังนี้
  1.  ยกเลิกระบบการเก็บภาษีอากรเดิม โดยการวางพิกัดอัตราเก็บภาษีเดียวกันทุกมณฑล และแต่งตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกมณฑล เพื่อดูแลการเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
  2. ทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อควบคุมรายรับรายข่ายของแผ่นดิน
  3. ทำสนธิสัญญาเพราะราชไมตรีว่าด้วยการค้าขาย และพิกัดอัตราภาษีกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
  4. ประกาศเปลี่ยนการใช้มาตรฐานเงินมาเป็นมาตรฐานทองคำ
  5. พิมพ์ธนบัตรใช้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕
  6. การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพ.ศ. ๒๔๑๖
  7. จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ คือ แบงก์สยามกัมมาจล ปัจจุบันคือธนาคารไทยพาณิชย์
          สมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๖๘) มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า
  1. การจัดตั้งธนาคารออมสิน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์
  2. การจัดตั้งกรมอากาศยาน สนามบินดอนเมือง
  3. การขยายเส้นทางรถไฟ มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น ทั้งสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออก และสายตะวันออกเฉียงเหนือ
  4. การส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งสถานีทดลองพันธุ์ข้าว จัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก
  5. การจัดการด้านการชลประทาน เช่น สร้างเขื่อนพระรามหก จังหวัดอยุธยา เป็นเขื่อนแรกแห่งประเทศไทย
          ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ ๖
  1. เกิดอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย
  2. เกิดภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๔๖๗
  3. รัฐบาลยกเลิกหวย ก.ข. และการพนันบ่อนเบี้ย ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากเงินค่าอากรปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก
          ความตกต่ำทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ ๗
          รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) รัฐบาลต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ฐานะการคลังของประเทศขาดความมั่นคง มีรายจ่ายสูงมากกว่ารายรับ เกิดจากสาเหตุดังนี้คือ
  1. ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่สะสมมาตั้งแต่ในรัชกาลก่อน
  2. ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) ไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
          การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ ๗
  1. ตัดทอนรายจ่ายของประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักและค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ตัดทอนรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรม ลดเงินเดือนข้าราชการ  และปรับดุลข้าราชการออกไปจำนวนหนึ่ง
  2. การเพิ่มอัตราภาษีศุลากากร และเก็บเงินค่าธรรมเนียมคนเข้าเมือง
เศรษฐกิจไทยยุคทุนนิยมโดยรัฐ
          สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๗ มีนโยบายพัฒนาประเทศดังนี้
  • นโยบายส่งเสริมลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ภายใต้คำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ"
  • ด้านพาณิชยกรรม รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้คนไทยประกอบอาชีพค้าขาย
  • ด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลจะลงทุนดำเนินการผลิตในอุตสาหกรรมที่เอกชนไม่มีทุน หรือขาดความชำนาญ
สภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
          ภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ แล้วได้นำเอาความคิดเกี่ยวกับการวางแผนเศรษฐกิจมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙ มีระยะเวลา ๖ ปี จนมาถึงปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐

ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔ ขาดดุลการค้ามากขึ้น
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๘ การขึ้นราคาน้ำมันเป็นผลให้สินค้ามีราคาแพง
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๗ ดุลการชำระเงินขาดดุลและขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้รัฐบาลต้องประกาศ "ลดค่าเงินบาท"
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๔ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ ประกาศนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐ เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๓ เกิดปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศตกต่ำและปัญหาการขาดความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท
  • ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมารัฐบาลต้องดำเนินนโยบายอย่างประหยัด เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินและการคลัง และมีมาตราการใหม่ ๆ ออกมาใช้

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๔๗ -๔๙

ลักษณะการเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์

ลักษณะการเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือช่วงเวลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ มีการจัดการปกครองตามแบบพสมัยอยุธยาตอนปลายแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน

๑.  การปกครองส่วนกลาง (ราชธานี) บริหารราชการแผ่นดินแบบจตุสดมภ์ มี ๔ ตำแหน่งเป็นผู้รับผิดชอบงานรวม ๖ กรม คือ
          ๑.๑  กลาโหม มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร มีหน้าที่บังคับบัญชาการฝ่ายทหารและพลเรือนในเขตหัวเมืองภาคใต้ชายทะเลตะวันตก และตะวันออก สมุหกลาโหม มียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ได้ตราคชสีห์เป็นตราเป็นประจำตำแหน่ง
          ๑.๒  มหาดไทย สมุหานายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเมืองและจตุสดมภ์ มีหน้าที่บังคับบัญชางานทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนแถบหัวเมืองฝ่ายเหนือและอีสานทั้งหมด ไม่ใช้ราชทินนามว่าจักรีเหมือนสมัยอยุธยา และไม่กำหนดแน่นอน บางครั้งใช้รัตนาพิพิธ รัตนคชเมศรา ภูธราพัย บดินทรเดชานุชิต เป็นต้น ใช้ตราราชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง
          ๑.๓  กรมเมือง มีหน้าที่ดังนี้
                 -  บังคับบัญชาข้าราชการและดูแลความสงบเรียบร้อยภายในกรุงเทพมหานคร
                 -  บังคับบัญชาศาล พิจารณาความอุกฉกรรจ์มหันตโทษ
เสนาบดีมีตำแหน่งเป็น เจ้าพระยายมราช มีตราพระยมทรงสิงห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง
          ๑.๔  กรมวัง มีหน้าที่ดังนี้
                 -  รักษาราชมนเฑียรและพระราชวังชั้นนอก ชั้นใน
                 -  เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธี
มีอำนาจตั้งศาลชำระความด้วยเสนาบดีคือ เจ้าพระธรรมา ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิการ (พระโค) เป็นตราประจำตำแหน่ง
          ๑.๕  กรมคลัง มีหน้าที่ดังนี้
                 -  ดูแลการเก็บและจ่ายเงิน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งคือ พระยาราชภักดี
                 -  ดูแลการแต่งสำเภาไปค้าขายต่างประเทศ และเจริญสัมพันธไมตรี ผู้ดำรงตำแหน่งคือ พระยาศรีพิพัฒน์
                 -  ตรวจบัญชี และดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออกผู้รักษาหน้าที่คือ พระยาพระคลัง ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง
          ๑.๖  กรมนา มีหน้าที่ดังนี้
                 -  ดูแลรักษานาหลวง
                 -  เก็บภาษีข้าว
                 -  เป็นพนักงานซื้อข้าวขึ้นฉางหลวง
                 -  พิจารณาคดีเกี่ยวกับเรื่องนา สัตว์พาหนะ
เสนาบดีตำแหน่งเป็น พระยาพลเทพ ใช้ตราพระพิรุณทรงนาค เป็นตราประจำตำแหน่ง

๒.  การปกครองส่วนภูมิภาค (หัวเมืองภูมิภาค) ให้อยู่ในความรับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดี ดังนี้
          ๒.๑  หัวเมืองภาคเหนือและอีสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งในด้านการทหาร และพลเรือน ตลอดจนเศรษฐกิจ และรักษาความยุติธรรม
          ๒.๒  หัวเมืองภาคใต้ อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม มี ๒๐ เมือง ได้แก่ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ไชยา หลังสวน ชุมพร ประทิวคลองวาฬ กุยบุรี ปราน ตะนาวศรี มะริด กระบุรี ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พังงา ถลาง กาญจนบุรี ไทรโยค และเพชรบุรี
          ๒.๓  หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก มี ๙ เมือง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สาครบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี ตราด อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่า

หัวเมืองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น เมืองเอก โท ตรี จัตวา
เจ้าเมืองเอก ได้รับแต่งตั้งจากราชธานี นอกนั้นให้เสนาบดีผู้เกี่ยวข้องดำเนินการ
หัวเมืองเอกทางเหนือ ได้แก่ พิษณุโลก ทางอีสานมี นครราชสีมา ทางใต้มี นครศรีธรรมราช ถลาง สงขลา

๓.  การปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มค้นจากหน่วยเล็กที่สุดคือ
     -  บ้าน      มีผู้ดูแลเรียกว่า   ผู้ใหญ่บ้าน
     -  ตำบล    มีผู้ดูแลเรียกว่า   กำนัน (มีบรรดาศักดิ์เป็น "พัน")
     -  แขวง    มีผู้ดูแลเรียกว่า   หมื่นแขวง
     -  เมือง     มีผู้ดูแลเรียกว่า   ผู้รั้ง (พระยามหานคร)

การตรากฎหมายตราสามดวง
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปรับปรุงกฎหมายบ้านเมืองครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๑ ดังนี้
           ๑.  กฎหมายตราสามดวง รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมและชำระกฎหมายเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และคัดลอกไว้ ๓ ฉบับ ทุกฉบับจะประทับตามราชสีห์ ตราคชสีห์ และ ตราวบัวแก้ว จึงเรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง"
          ๒.  กฎหมายตราสามดวง หรือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ ใช้เป็นหลักปกครองประเทศมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนจะปฏิรูปกฎหมายและการศาลของไทยให้เป็นระบบสากลเหมือนดังในปัจจุบัน

การเมืองการปกครองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคใหม่
สมัยรัตนโกสินทร์ยุคใหม่ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ คนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๗๕) เป็นยุคที่ไทยเริ่มรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิทยาการจากชาติตะวันตก แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังไม่ปรากฎเด่นชัด

การปรับปรุงพื้นฐานบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๔
เนื่องจากรัชกาลที่ ๔ ทรงแตกฉานภาษาอังกฤษและวิทยาการสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีพระสหายเป็นข้าราชการและพ่อค้าชาวตะวันตก จึงทำให้เป็นผู้รอบรู้ความเป็นไปของโลกได้เป็นอย่างดี จึงได้ริเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นชาติที่มีอารยธรรมสากล ดังนี้
          ๑.  โปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า
          ๒.  ยกเลิกการบังคับราษฎรให้ปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนขณะพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนิน
          ๓.  อนุญาตให้ราษฎรถวายฎีการ้องทุกข์ได้
          ๔.  ทรงใช้ประกาศเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบและผดุงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
          ๕.  ว่าจ้างชาวยุโรปและอเมริกันให้เข้ารับราชการในฐานะที่ปรึกษา เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและอำนวยประโยชน์แก่ราษฎรอย่างทั่วถึง
ข้อสังเกต รูปแบบการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่ในลักษณะเดิม

การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕
          ๑.  การปฏิรูปในระยะต้นรัชกาล ทรงตั้งสภาสำคัญ ๒ สภาคือ
               -  สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  (Council Of State)  ทำหน้าที่คล้ายสภานิติบัญญัติในปัจจุบัน
               -  สภาที่ปรึกษาในพระองค์  (Privy Council)  ทำหน้าที่เช่นเดียวกับองคมนตรีในปัจจุบัน

ผลกระทบจากการตั้งสภาทั้ง ๒ คือ พวกขุนนางหัวเก่าคิดว่าจะถูกล้มล้างระบบขุนนางผู้ใหญ่จึงรวมกลุ่มต่อต้านไม่ให้ความร่วมมือ ถึงขั้นที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์วังหน้า" ในที่สุดต้องล้มเลิกสภาทั้งสองไป

          ๒.  การปฏิรูประยะที่สอง (ปรับปรุงกิจการบ้านเมืองครั้งใหญ่)
               ๒.๑  เหตุผลสำคัญที่ต้องปฏิรูป
                      -  ทรงตระหนักภัยอันตรายจากลัทธิจักรวรรดิ์นิยมตะวันตก
                      -  ทรงเห็นว่าระเบียบการปกครองและระบบการบริหารประเทศเท่าที่ใช้อยู่มีความล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก
               ๒.๒  ขั้นตอนการดำเนินงานปฏิรูป
                      -  ยกเลิกตำแหน่งสมุหกลาโหม สมุหนายก และ จตุสดมภ์
                      -  แยกงานราชการออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนเรียกว่า "กระทรวง" มีเจ้ากระทรวง เรียกว่า "เสนาบดี"
                      -  แบ่งหน่วยราชการออกเป็น ๑๒ กระทรวง คือ
                            ๑.  กระทรวงมหาดไทย
                            ๒.  กระทรวงกลาโหม
                            ๓.  กระทรวงการต่างประเทศ
                            ๔.  กระทรวงนครบาล
                            ๕.  กระทรวงวัง
                            ๖.  กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
                            ๗.  กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ
                            ๘.  กระทรวงยุติธรรม
                            ๙.  กระทรวงยุทธนาธิการ
                          ๑๐.  กระทรวงธรรมการ
                          ๑๑.  กระทรวงโยธาธิการ
                          ๑๒.  กระทรวงมุรธาธร
     ทั้งนี้ให้เสนาบดีรับผิดชอบว่าราชการในแต่ละกระทรวงให้เสมอกัน
           -  ปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค ดังนี้คือ
                  ๑.  ยกเลิกหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก เมืองเอก โท ตรี จัตวา และเมืองประเทศราช และแบ่งเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยให้
                         ข้าหลวงเทศาภิบาล   ดูแล  มณฑล
                         ผู้ว่าราชการเมือง       ดูแล  เมือง (จังหวัด)
                         นายอำเภอ               ดูแล  อำเภอ
                         กำนัน                       ดูแล  ตำบล
                         ผู้ใหญ่บ้าน                ดูแล  หมู่บ้าน
                 ๒.  โปรดให้ประชาชนในท้องถิ่นเลือก กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
                 ๓.  โปรดให้ตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ และสุขาภิบาลหัวเมือง ที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการบริหารตนเองในท้องถิ่น


การปรับปรุงการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) อุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิบไตยเริ่มเผยแพร่เข้าสู่เมืองไทย มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้น ๒ ประการคือ
          ๑.  กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นการเคลื่อนไหวของคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "คณะพรรค ๑๓๐" นำโดยร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ แต่แผนการปฏิวัติรั่วไหลเสียก่อน คณะผู้ก่อการฯ ถูกจับได้ทั้งหมด
          ๒.  การจัดตั้งดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ ๖ ตั้งขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อฝึกให้ข้าราชการบริหารมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิบไตยและเป็นการวางพื้นฐานประชาธิปไตยให้แก่คนรุ่นใหม่

การปรับปรุงการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) ทรงวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของประเทศตะวันตกดังนี้
          ๑.  จัดตั้งสภาต่าง ๆ เพื่อช่วยบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้
               -  อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
               -  เสนาบดีสภา เป็นที่ประชุมของเสนาบดีประจำกระทรวง
               -  องคมนตรีสภา เป็นสภาที่ปรึกษาในข้อราชการที่ทรงขอความเห็น
          ๒.  เตรียมจัดการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามแบบอย่างชาติตะวันตก มีการร่างกฏหมายและเตรียมให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ยังไม่ทันประกาศใช้ได้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน
          ๓.  จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โปรดเกล้า ฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมจะพระราชทานให้ปวงชนชาวไทยถึง ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๖๙ และ พ.ศ. ๒๔๗๔) แต่ถูกคัดค้านจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง เพราะเห็นว่าประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อม

การเมืองการปกครองสมัยประชาธิปไตย
          ๑.  การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
             ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ สรุปได้ดังนี้
                  ๑.๑  กลุ่มบุคคลผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรียกว่า "คณะราษฎร"
                  ๑.๒  สาเหตุของการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕
                  ๑.๓  อิทธิพลความคิดทางการเมืองของประเทศตะวันตก 
                  ๑.๔  อิทธิพลของหนังสือพิมพ์ มีการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตย
                  ๑.๕  ผลของการปฏิวัติ มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕
          ๒.  ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
               ๒.๑  ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งแรกมีสาเหตุเกิดจาก "ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ" ของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (นายปรีดี  พนมยงค์)
                ๒.๒  พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะประทับอยู่ที่อังกฤษ
                ๒.๓  รัฐบาลในชุดต่อมามีนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลในคณะราษฎรหลายคน เช่น
                        -  จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๘๑ ๒๔๘๗) ใช้นโยบายชาตินิยมเป็นแนวทางการสร้างชาติ
                         -  นายปรีดี  พนมยงค์ กรณีการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๘
                         -  พลเรือตรีถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๐)
                         ต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจอย่างหนักภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

การเมืองการปกครองไทยภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหาร
          การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่ราบรื่น ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ มีการก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากฝ่ายทหาร (รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง) คือ


การเมืองการปกครองของไทยในยุคกระแสประชาธิปไตย
          มีความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์และรักความเป็นธรรมต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
  • กรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ (วันมหาวิปโยค)
  • กรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
  • เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ สิ้นสุดลง มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง 

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๒๘ - ๓๕

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์



รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๕๒) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๙ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของหลวงพินิจอักษร ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ปละเจ้าแม่วัดดุสิต (พระนามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) เมื่ออายุ ๒ พรรษา ทรงผนวชและสมรสกับนางสาวนาค ธิดาของคหบดีตำบลอัมพวา สมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๓๑๙ เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หลังกลับจากเป็นแม่ทัพไปตีหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ ตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์ และตีหัวเมืองเขมรได้หลายเมือง พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรางปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา ในวันที่ ๗ กันยายน พระชนมายุ ๗๓ พรรษา รวมเวลาครองราชย์นาน ๒๗ ปี


รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๑ ประสูติเมื่อง พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อพระราชบิดีขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังมิได้ทรงเป็นกรมพระราชวังบวร (เนื่องจากรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาพระอนุชาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในฐานะที่ทรงเป็นทหารเอกของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก่อน และได้เป็นผู้มาเชิญรัชกาลที่ ๑ ไปรับราชการกับพระเจ้าตากสิน จนเมื่อกระพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ถึงแก่พิราสัย จึงได้สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อพระชนมายุ ๓๙ พรรษา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระชนมายุ ๔๒ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคต พ.ศ. ๒๓๖๗ พระชนมายุ ๕๗ พรรษา



รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของรัชกาลที่ ๒ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าทับ ประสูตร พ.ศ. ๒๓๓๐ ภายหลังทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กำกับราชการกรมท่า กรมคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระชนมายุ ๓๗ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี เสด็จสวรรคต พ.ศ. ๒๓๙๔ พระชนมายุ ๖๔ พรรษา








 รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฏ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ ทรงเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๒ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชโอรสที่ประสูตรจากสมเด็จพระบรมราชินี ต่างจากสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประสูติจากพระสนม (ภายหลังได้เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เหตุที่มิได้ทรงรับราชสมบัติในตอนนั้นก็เนื่องจากมีพระชนมายุน้อยกว่า และมีประสบการณ์ในงานราชการน้อยกว่า เมื่อขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้พร้อมใจกันถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าฟ้ามงกุฏจึงเสด็จออกผนวช ผนวชได้เพียง ๒ วัน สมเด็จพระราชบิดาก็ประชวรหนัก (อีก ๘ วันต่อมาก็สวรรคต) เจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นาน ๒๖ ปี ต่อมารัชกาลที่ ๓ สวรรคต พระองค์จึงลาผนวชเป็นกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุ ๔๗ พรรษา พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงสถาปนา เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน) เป็นสมเด็จประปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองเคียงคู่กับพระองค์ ๆ ครองราชย์อยู่นาน ๑๗ ปี และสวรรคตในขณะที่มีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา ด้วยพระโรคไข้ป่า ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ หลังจากเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)



รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าลงกรณ์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) ในรัชการของพระองค์ ทรงเปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมือง เสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง เพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีและนำความคิดความรู้สมัยใหม่มาพัฒนาประเทศได้รับถวายพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช ครองราชย์อยู่นานถึง ๔๒ ปี พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชนมายุ ๕๘ พรรษา





รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) พระมหาธีรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อพระชนมายุ ๑๑ พรรษา เสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เสด็จขึ้นครองราชย์วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จสวรรคตวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระชนมายุ ๔๕ พรรษา รวมเวลาครองราชย์ ๑๕ ปี










 รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ประสูติ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าพระชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระราชโอรสองค์สุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕) เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แล้วกลับขึ้นครองราชย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ก็ทรงสละราชสมบัติไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยนั้น และทรงพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษจนสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา




รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๙) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (โอรสองค์ที่ ๖๙ ของรัชกาลที่ ๕) ซึ่งถึงแก่พิราลัยแล้ว พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะทรงพระชนมายุ ๑๐ พรรษา) แล้วเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์อยู่ได้เพียงประมาณปีเดียว ก็ทรงต้องพระแสงอาวุธปืนเสด็จสวรรคต วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระชนมายุ ๒๑ ปี รวมเวลาอยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี






รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (พ.ศ. ๒๔๘๙ - ปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ประสูติ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ สืบราชสมบัติต่อจากพระเชษฐา ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อพระชนมายุ ๑๙ พรรษา แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงกับมากระทำพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงได้รับถวายพระราชสมัญญามหาราช เมื่อมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต




ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๑๗ - ๒๐

การสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์

การตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
หลังจากที่ปราบกบฏพระยาสรรค์ได้สำเร็จ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา (นับเป็นวันเริ่มต้นแห่งราชวงศ์จักรี ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ ๖ เมษายน ของทุกปีเป็นวันจักรี เพื่อระลึกถึงวาระสำคัญนี้) มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์มีดำรัสว่าพระราชวังเดิม (กรุงธนบุรี) มีวัดขนาบทั้งสองข้าง (คือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาด) ไม่อาจขยายให้กว้างขวางออกไปได้อีก ไม่เหมาะที่จะเป็นราชธานีที่ถาวรสืบไป แล้วโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่บ้านพระยาราชาเศรษฐี และบ้านชาวจีนตำบลบางกอก อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา และให้พระยาราชาเศรษฐีกับชาวจีนเหล่านั้น ย้ายไปตั้งบ้านเรือที่บริเวณสวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง (สำเพ็ง)

เหตุผลในการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีไปฝั่งตะวันออก
๑.  พระราชวังสมัยกรุงธนบุรีคับแคบ ไม่สามารถขยายให้กว้างได้ เพราะมีวัดขนาบอยู่ทั้ง ๒ ด้าน คือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดโมฬีโลกยราม (วัดท้ายตลาด) จึงยากแก่การขยายพระราชวัง
๒.  การย้ายมาตั้งทางฝั่งตะวันออกฝั่งเดียว ดีกว่าเพราะเป็นชัยภูมิที่ดีต่อการป้องกันข้าศึก เนื่องจากธนบุรีเป็นเมืองอกแตก คือ มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ข้าศึกลำเลียงทหารเข้าตีเมืองได้ง่าย และถ้ามีศึกสงครามจะทำให้ทั้งสองฝั่งติดต่อกันได้ยาก
๓.  ภูมิประเทศทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งกรุงเทพ) สามารถขยายตัวเมืองให้กว้าง เนื่องจากเป็นท้องทุ่งโล่ง นอกจากหมู่บ้านชาวจีนแล้วก็มีประชาชนอยู่เบาบาง ในระยะยาวจะสามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อย ๆ

ลักษณะของราชธานี


กรุงเทพมหานครสร้างขึ้นโดยเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน
๑.  พระบรมมหาราชวัง ซึ่งประกอบด้วย วังหลวง วังหน้า วัดในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ทุ่งพระเมรุ และสถานที่สำคัญอื่น ๆ มีอาณาบริเวณตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยาจนถึงคูเมืองเดิมสมัยธนบุรี (ที่เรียกกันว่า คลองหลอดในปัจจุบัน)
๒.  ที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง เริ่มตั้งแต่คูเมืองเดิมไปทางตะวันออกจนจดคูเมืองใหม่ (คลองรอบกรุง) ประกอบด้วยคลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่างตามแนวคลองรอบกรุงมีการสร้างกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปราการโดยรอบมีการขุดคลองหลอด ๑ คลองหลอด ๒ เชื่อมระหว่างคูเมืองเก่ากับคูเมืองใหม่ นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้างถนน สะพาน และสถานที่อื่น ๆ ที่จำเป็นอีกด้วย ราษฎรที่อาศัยในส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย
๓.  ที่อยู่อาศัยนอกกำแพงเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองรอบกรุงกระจายกันออกไปและมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือนประเภทช่างต่าง ๆ เช่น บ้านบาตร บ้านพานถม บ้านหม้อ บ้านดอกไม้ไฟ

การสร้างพระบรมมหาราชวัง
พระราชวังที่สร้างใหม่นั้น ได้กระทำกันเป็นการใหญ่โตมโหฬารมาก มีการระดมเกณฑ์ไพร่หลวงให้ทำอิฐขึ้นใหม่บ้างและรื้อเอาอิฐกำแพงกรุงเก่าที่อยุธยาลงมาบ้าง เพื่อสร้างกำแพงพระนคร และพระราชวังใหม่ เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คน เข้ามาขุดคูพระนคร เกณฑ์ชาวเวียงจันทน์ ๕,๐๐๐ คน กับข้าราชการหัวเมืองเข้ามาช่วยกันระดมขุดรากก่อกำแพงพระนคร และสร้างป้อมต่าง ๆ โดยรอบพระนคร


การสร้างพระนครนี้ใช้เวลา ๓ ปี จึงสำเร็จหลังจากนั้นได้จัดพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองเป็นการเอิกเกริกมโหฬารรวม ๓ วัน และพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" เรียกย่อ ๆ ว่า "กรุงรัตนโกสินทร์" ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเปลี่ยน "บวรรัตน์โกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์"


สำหรับการสร้างพระบรมมหาราชวังนั้น นอกจากจะให้สร้างปราสาทราชมนเทียรแล้ว ยังโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๘ - ๑๐