วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
          ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส
          เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อในสมัยรัตนโกสินทร์
          ๑.  อันโตนิโอ เดอ วีเสนท์ (องตนวีเสน) เป็นคนแรกที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๑
          ๒.  คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยไม่ได้นำปืนคาบศิลามาให้ไทย ๔๐๐ กระบอก
          ๓.  ต่อมารัชกาลที่ ๒ พระราชทานตำแหน่งขุนนางไทยให้แก่ คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นหลวงอภัยพานิช


          ความสัมพันธ์กับอังกฤษ
          การติดต่อในสมัยรัชกาลที่ ๑ อังกฤษได้ส่งฟรานซิสไลท์ หรือกัปตันไลท์ พร้อมนำดาบประดับพลอยกับปืนด้ามเงิน เข้ามาถวายรัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชกปิตัน
          สมัยรัชกาลที่ ๒ มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียได้จัดส่ง จอห์น ครอเฟิต (การะฟัด) พร้อมบรรณาการมาถวายเพื่อเจรจาการค้า ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีปัญหาเรื่องภาษา ครอเฟิตดูหมิ่นไทย ไทยไม่ยอมตกลงปัญหาไทรบุรี และไทยไม่พอใจที่พวกอังกฤษเข้าสำรวจปากน้ำเพื่อทำแผนที่
          ต่อมาอังกฤษส่งผู้สำเร็จราชการประจำสิงคโปร์ คือ โรเบิร์ติ ฮันเตอร์ (หันแตร) เข้ามาตั้งร้านค้าขึ้นในประเทศไทย ต่อมาได้เป็นหลวงอาวุธวิเศษ
          สมัยรัชกาลที่ ๓ ลอร์ด แอมเฮิร์สต์ ได้ส่งร้อยเอก เฮนรี่ เบอร์นี (บรานี) ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดียเข้ามาขอทำสัญญาการค้ากับไทยได้สำเร็จมีชื่อว่า "สนธิสัญญาเบอร์นี" ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ คือ
  • ไทยกับอังกฤษมีไมตรีต่อกัน หากเกิดคดีความให้ตัดสินตามกฏหมายไทย
  • ทั้งสองฝ่ายต้องอำนวยความสะดวกในด้านการค้าต่อกัน
  • อังกฤษยอมรับว่า ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส เป็นของไทย
  • ห้ามนำฝิ่นมาขายในไทย ห้ามนำข้าวออกนอก
  • อาวุธและกระสุนดินดำ ต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น
  • อังกฤษเสียภาษีปากเรือ (ภาษีเบิกร่อง)
  • พ่อค้าอังกฤษขายสินค้าทั่วราชอาณาจักร
  • หากคนอังกฤษดูหมิ่นคนไทย อาจถูกขับไล่ออกนอกประเทศได้ทันที
          ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ลอร์ด ปาลเมอร์สตัน ได้ส่ง เชอร์ เจมส์ บรูค มาขอแก้ไขสัญญาใหม่ ดังรายการต่อไปนี้
  • ลดภาษีปากเรือ
  • นำฝิ่นมาขายได้
  • นำข้าวออกได้
  • ตั้งสถานกงสุลในไทย
     ทั้งนี้เพื่อต้องการได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนไทย แต่ยังไม่สำเร็จก็สิ้นสุด รัชกาลที่ ๓

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓
๑.  กัปตันเฮล เป็นอเมริกันคนแรกที่เข้ามา พร้อมทั้งได้นำปืนคาบศิลามาถวายรัชกาลที่ ๓ จำนวน ๕๐๐ กระบอก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงภักดีราชกปิตัน จึงได้รับพระราชทานสิ่งของ และงดเว้นการเก็บภาษีจังกอบ
๒.  ต่อมาประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจคสัน ได้ส่ง เอ็ดมันท์ โรเบิร์ต (เอมินราบัด) เข้ามาทำสัญญาการค้าแบบที่ทำกับอังกฤษ
๓.  ภายหลังได้ส่ง โจเซฟ บัลเลสเตียร์ มาขอทบทวนสัญญาใหม่แต่ไม่สำเร็จ


ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสมีบทบาทต่อไทยมากในสมัยรัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรุกรานไทยเสียมากกว่าเป็นมิตรไมตรี แต่ไทยอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จึงจำต้องใช้วิธีการผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา จนไทยต้องยอมเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสถึง ๕ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑  (พ.ศ. ๒๔๑๐) เสียเขมรส่วนนอก คือ ประเทศเขมรส่วนใหญ่นั่นเอง
ครั้งที่ ๒  (พ.ศ. ๒๔๓๑) เสียแคว้นสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหก
ครั้งที่ ๓  (พ.ศ. ๒๔๓๖) เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ดินแดนลาวส่วนใหญ่ และก่อนการเสียดินแดนครั้งนี้ได้เกิดการรบต่อสู้ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. ๑๑๒" (พ.ศ. ๒๔๓๖)
ครั้งที่ ๔  (พ.ศ. ๒๔๔๖) เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขงบริเวณหลวงพระบาง และจำปาศักดิ์เพื่อแลกกับจันทบุรี
ครั้งที่ ๕  (พ.ศ. ๒๔๔๙) เสียมณฑลบูรพาหรือเขมรส่วนใน อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับเมืองตราด

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๔ - ๗๖

ความสัมพันธ์กับจีน มอญ และลังกา

ความสัมพันธ์กับจีน มอญ และลังกา
๑.  ความสัมพันธ์กับจีน
  • ในสมยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยได้ส่งทูตบรรณาการไปจีน ๕๒ ครั้ง ภายในเวลา ๖๙ ปี (รัชกาลที่ ๑ จำนวน ๒๒ ครั้ง รัชกาลที่ ๒ จำนวน ๑๓ ครั้ง และรัชกาลที่ ๓ จำนวน ๑๗ ครั้ง)
  • พระมหากษัตริย์ไทยโปรดให้บรรดาทูตานุทูต และผู้แทนพระองค์ไปดำเนินธุรกิจค้าขายกับจีน และจ้างพ่อค้าจีนเป็นตัวแทนค้าขายของพระองค์เพื่อไปดำเนินการค้าขายกับจีนอีกด้วย
  • ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยเพิ่มมากขึ้น ได้รับความยุติธรรมในการค้าขายกับไทยมากกว่าชาติอื่น ๆ และซื้อขายได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ยุ่งยาก ขณะเดียวกันพ่อค้าไทยก็ได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขายกับจีนด้วย
  • การค้าระหว่างไทย - จีน ในรูปแบบบรรณาการ ยุติลงภายหลังสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะผลกระทบจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตก 


๒.  ความสัมพันธ์กับมอญ
          ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๑๐ มอญตกเป็นของพม่าทั้งหมด และมีพวกมอญบางกลุ่มหนีพม่ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ทำให้ไทยได้มอญเป็นกำลังสำคัญในกองทัพสำหรับสู้รบกับพม่า เช่น ในสมัยรััชกาลที่ ๓ ได้เจ้าพระยามหาโยธา ชาวมอญเป็นผู้คุมกองทัพมอญเพื่อไปสู้รบกับพม่า

๓.  ความสัมพันธ์กับลังกา
          ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมาแต่สมัยสุโขทัย
          ๓.๑  สมัยรัชกาลที่ ๒ พระภิกษุลังกาชื่อ พระสาสนวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกับต้นโพธิ์ลังกาเข้ามาถวาย
          ๓.๒  สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งตั้งสมณฑูต ๙ รูป มีพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้าออกไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ซึ่งเป็นสมณทูตไทยคณะแรกที่ไปเจริญสมณไมตรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          ๓.๓  สมณทูตไทยกลับถึงเมืองไทยในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ พร้อมทั้งได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มา ๖ ต้น ซึ่งนับเป็นโพธิ์พันธุ์ลังกาที่เข้ามาครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์ และได้นำมาปลูกไว้ตามที่ต่าง ๆ ดังนี้
  • ปลูกที่กลันตัน                  ๑     ต้น
  • ปลูกที่นครศรีธรรมราช       ๒     ต้น
  • ปลูกที่วัดสุทัศน์ฯ              ๑     ต้น
  • ปลูกที่วัดมหาธาตุฯ           ๑     ต้น
  • ปลูกที่วัดสะเกศฯ              ๑     ต้น


          ๓.๔  สมัยรัชกาลที่ ๓ พระสงฆ์ไทยเดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย ๒ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ กับ พ.ศ. ๒๓๘๗
          ๓.๕  สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ส่งสมณทูตไปลังกา ๑ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ ประกอบด้วยพระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระอโนมศิริมุนี (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี)) เป็นหัวหน้า และคฤหัสต์อีก ๖ นายเพื่อนำคัมภีร์ หนังสือซึ่งสมณทูตครั้งก่อนออกไปยืมเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ กลับคืนไป และหวังที่จะบวชธรรมยุติกนิกายให้แก่ชาวลังกาผู้เลื่อมใสศรัทธาธรรมยุติกนิกายด้วย

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๓ - ๗๔

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑
ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๑
๑.  สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับรัชสมัยของราชกาลที่ ๖
๒.  คู่สงครามสำคัญ คือ
     ๒.๑  ฝ่ายสัมพันธมิตร  (Triple Allies)  ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
     ๒.๒  ฝ่ายพันธมิตรไตรภาคี  (Triple Entente)  หรือ มหาอำนาจกลาง  (Central Powers)  ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ตุรกี
๓.  ช่วงเกิดสงครามระยะแรกไทยดำรงความเป็นกลาง จนถึง ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ไทยจะได้เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่เคยทำไว้กับนานาประเทศ


๔.  สาเหตุที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางมี ๓ ประการ คือ
     ๔.๑  เพราะรัชกาลที่ ๖ เห็นว่าสัมพันธมิตรจะต้องชนะแน่นอน และจะได้ขอแก้ไขสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔
     ๔.๒  ทรงเห็นว่าการรักษาความเป็นกลางมีผลเสียมากกว่าผลดี
     ๔.๓  มีพระราชประสงค์จะรักษาความเป็นธรรมระหว่างประเทศไว้
๕.  ภายหลังประกาศสงครามแล้ว ไทยก็ได้จับชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ส่งไปให้อังกฤษที่อินเดีย กับยึดเรือเดินทะเลเยอรมันที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ๔๐ ลำ จากนั้นก็จัดส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบกับสัมพันธมิตรตามคำขอของฝรั่งเศสจำนวน ๑,๒๕๐ คน (ประกอบด้วยกองบินทหารบก ๔๐๐ คนเศษ และทหารรถยนตร์ประมาณ ๘๕๐ คน) ภายใต้บังคับบัญชาของพันเอกพระเฉลิมอากาศ  (สุณี  สุวรรณประทีป) ออกเดินทางจากประเทศไทย ๒๐ มิถุนายน ๒๔๖๑ ถึงเมืองท่ามาร์แชล ของฝรั่งเศส ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทหารไทยได้ปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็งจนได้รับตรา "ครัวช์เดอแกร์" จากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อเป็นเกียรติแก่กองทัพไทย
๖.  การเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ไทยได้สร้าง "อนุสาวรีย์ทหารอาสา" และ "วงเวียน ๒๒ กรกฎา" ไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกไว้ด้วย
๗.  ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ๗.๑  ทำให้ได้รับการยกย่องว่ามีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับอารยประเทศ
     ๗.๒  เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป
๘.  ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ
๙.  สามารถยกเลิกสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (ผู้แพ้สงคราม) ในฐานะประเทศผู้ชนะ



๑๐.  สามารถขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ในฐานะประเทศผู้ร่วมสงคราม และประเทศสหรัฐอเมริกายอมแก้ไขยกเลิกให้แก่ไทยเป็นประเทศแรก
๑๑.  ได้รับผลประโยชน์จากการยึดทรัพย์สินและห้างร้านของเชลย ตลอดจนได้เงินค่าปฏิมากรรมสงคราม ๒ ล้านบาท
๑๒.  สามารถนำประสบการณ์ในสงครามมาปรับปรุงกิจการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๖ - ๗๗

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์

ความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย
มีอยู่ใน ๓ รูปแบบ คือ
๑.  เป็นมิตรไมตรีกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าขาย เช่น จีน มลายู ชวา อินเดีย เป็นต้น
๒.  เป็นคู่สงครามกัน ได้แก่
     ๒.๑  พม่า มีการทำสงครามกันมากที่สุดถึง ๑๐ ครั้ง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๑ รวม ๗ ครั้ง ครั้งใหญ่ที่สุด คือ ศึกเก้าทัพ ตรงกับสมัยของพระเจ้าปะดุงแห่งพม่าไทยเป็นฝ่ายชนะและได้เกิดวีรศตรี ๒ ท่านคือ ท้าวเทพกระษัตรี (คุณหญิงจันทน์) กับท้าวศรีสุนทร (นางมุก) จากนั้นไทยกับพม่าได้มีการทำสงครามกันอีกในสมัยรัชกาลที่ ๒ - รัชกาลที่ ๓ และสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะดม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งประเทศ
     ๒.๒  ญวน นับว่าเป็นคู่แข่งขยายอิทธิพลกับไทยเข้าไปยังเขมรและลาว จึงทำให้เกิดกระทบกระทั่งกับไทยถึงขั้นทำสงครามต่อกัน และส่วนใหญ่สาเหตุการรบระหว่างไทยกับญวนมักมาจากเขมร
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ไทยยกกองทัพไปตีญวน ๒ ครั้ง เพื่อช่วยองเชียงสือกษัตริย์ญวน
  • สมัยรัชกาลที่ ๓ ญวนได้ยกทัพมาตีหัวเมืองลาวของไทยและในสมัยนี้ไทยกับญวนรบกันนานถึง ๑๔ ปี จนกระทั่งญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งในที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ และถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ญวนก็ตกเป็นของฝรั่งเศสทั้งประเทศ


๓.  การดำเนินนโยบายต่อประเทศราช ส่วนใหญ่ไทยเราจะเปิดโอกาสให้ประเทศราชจัดการปกครองดูแลกันเองอย่างอิสระ แต่ต้องส่งบรรณาการมาถวายและส่งกำลังมาช่วยราชการเมื่อพระมหากษัตริย์ไทยต้องการ เมื่อประเทศราชแข็งแรงก็จะมีการปราบปราม และหากมีความยุ่งยากภายในจะยกกองทัพไปช่วยจัดการให้เกิดความสงบ
     ๓.๑  เขมร เป็นชาติที่มีปัญหายุ่งยากภายในตลอดมาและไทยได้ช่วยเหลือจัดการให้เกิดความสงบมาโดยตลอด
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงอุปการะแก่นักองเองอย่างราชบุตรบุญธรรมแล้วอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ไปปกครองเขมร
  • สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระอุทัยราชา (นักองจันทน์) กับพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) ได้สำเร็จ
     ๓.๒  ลาว มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาตลอดในฐานะ "บ้านพี่เมืองน้อง" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๒ เพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกัน
               สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์หันไปฝักใฝ่ญวนแล้วคิดกบฏต่อไทย ยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึงนครราชสีมา ผลที่สุดไทยก็ปราบได้สำเร็จ โดยแม่ทัพสำคัญคือ เจ้าพระยาราชสุภาวดี (ต่อมาเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) และได้เกิดวีรสตรีสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ลาวก็จกเป็นของฝรั่งเศส
     ๓.๓  หัวเมืองมลายู
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ไทยยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองมลายูที่ตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองไทรบุรีหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะหมาก (ปีนัง)
  • สมัยรัชกาลที่ ๒ อังกฤษจึงส่งทูตมาขอเจรจากับไทยและในที่สุดไทยก็จัดการปกครองมลายูได้โดยเรียบร้อย และถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ หัวเมืองมลายูอันได้แก่ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ตกเป็นของอังกฤษ


     ๓.๔  ล้านนา
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ มีนโยบายการปกครองประเทศราชด้วยการผูกใจให้จงรักภักดี จึงยกย่องสถาปนาพระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่มีเกียรติยศเสมอเจ้านครเวียงจันทน์
  • สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ยุบเลิกประเทศราชแล้วตั้งล้านนาเป็นมณฑลพายัพ ต่อมาภายหลังเมื่อยุบเลิกมณฑล ก็ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๒ - ๗๓

โครงการส่วนพระองค์

ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตรสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อพระราชประสงค์ที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งโครงการใหญ่และโครงการย่อย ดังนี้

โครงการใหญ่ทรงแบ่งออกเป็น ๒ โครงการคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นการทดลองวิจัยเพื่อหาองค์ความสำหรับนำมาพัฒนาด้านการเกษตร และโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการทดลองแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อจำหน่ายและนำกำไรมาขยายงานเพิ่ม ซึ่งโครงการนี้ได้ขยายเป็นโครงการย่อยได้ถึง ๒๐ สาขาโครงการ อันได้แก่


โครงการนมสวนจิตรลดา ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา โรงน้ำดื่ม โรงนมยูเอชทีสวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงบดแกลบ โรงงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โรงงานน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรซ์ โรงงานน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง โรงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง โรงหล่อเทียนหลวง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงกระถางผักตบชวา โรงพืชสมุนไพร โรงเพาะเห็ด โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทอง ร้านหัตถกรรมศิลป์

โครงการหลวงมีครอบคลุมอยู่ ๕ จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนภาคเหนือ ในปี ๒๕๑๒ ทอดพระเนตรเห็นชาวสวนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ตัดไม้ทำลายป่า และแถบนั้นยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือ จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ มีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการหลวง ครั้นถึงปี ๒๕๓๕ ยกระดับขึ้นเป็น มูลนิธิโครงการหลวง ประธานมูลนิธิยังคงเป็นผู้อำนวยการโครงการหลวงเดิม

การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเมืองหนาวตั้งแต่ผักไปจนถึงผลไม้กว่า ๕๐ ชนิด ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งเน้นสนองความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะครอบคลุม ๕ จังหวัดภาคเหนือแล้ว ยังมีสถานีวิจัยอีก ๖ แห่ง มีศูนย์โครงการหลวง ๓๔ แห่ง และมีหมู่บ้านพัฒนาอีกหมู่บ้าน


คนไทยชาวภูเขาทางภาคเหนือได้ชีวิตใหม่จากมูลนิธิโครงการหลวง เลิกไร่ฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า หันมาทำไร่ผักผลไม้แทน ดอกไม้เมืองหนาวและป่าอนุรักษ์ มีผลผลิตจากโครงการหลวงภายใต้ทะเบียนการค้าดอยคำ ดังนั้น ชาวไทยภูเขาทุกคนที่ได้ชีวิตใหม่จึงไม่ลืมคำขวัญโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ว่า

"ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่า ประชาชนชาวท้องถิ่นทั้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่พระองค์เสด็จไปทรงดูมาส่วนใหญ่ขาดไอโอดีนที่เป็นธาตุสำคัญต่อร่างกาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกลือผสมไอโอดีนผ่านกระทรวงสาธารณสุข นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่ออนามัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่า เกลือพระราชทาน

เหตุนี้ โครงการแพทย์และสาธารณสุขจึงเกิดขึ้น

ในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในเมืองและชนบทห่างไกล ด้วยการแก้ไจปัญหาเฉพาะหน้า เริ่มด้วยทรงบริจาคทุนทรัพย์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อกิจการด้านการผลิตวัคซีน และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉายภาพส่วนพระองค์ หารายได้สร้างตึกในสภากาชาดไทยและอื่น ๆ

ปี ๒๔๙๕ ประเทศไทยเกิดโรคระบาดใหญ่เกี่ยวกับโรคไขสันหลังอักเสบ ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะพิการ แขนขาไร้กำลัง กล้ามเนื้อและระบบหายใจเป็นอัมพาต ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานทรัพย์ให้กระทรวงสาธารณสุข ซื้อปอดเหล็กให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรักษาผู้ป่วย ๓ เครื่อง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อส. ประกาศเชิญบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อจัดตั้งมูลนิธิโปลิโอสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและซื้อเครื่องมือในการรักษาโรค

ต่อมาเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ ทรงจัดหาวัคซีนป้องกันและบำบัดโรค ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กองวิทยาศาสตร์สภากาชาดไทย จัดซื้อเครื่องมือในการผลิตวัคซีน ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถผลิตวัคซีนตัวอื่น ๆ ได้ด้วย จากนั้น ทรงพระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยการสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือที่มีคุณภาพ

สถาบันราชประชาสมาสัย ถูกก่อตั้งขึ้นในชื่อนี้ โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถานพยาบาลพระประแดง เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ร่วมดำเนินการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจะจัดตัวผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อแยกอยู่ออกไปเป็นสัดส่วน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขจะได้มีสถาบันวิจัยโรค และฝึกบุคลากรสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขจึงกราบบังคมให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ทุนอานันทมหิดล ให้ดำเนินการ

เด็กที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อทรงพระคำนึงถึงราษฎรที่อยู่ตามริมน้ำคูคลอง เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ไม่สามารถที่จะเดินทางไปรักษาที่สถานพยาบาลได้ เนื่องจากหนทางยาวไกล เรือเวชพาหน์ โครงการหลวงพระราชทานจึงเกิดขึ้น โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีแพทย์ไปตรวจเยี่ยมตามถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ เมื่องานขยาย แพทย์ไม่พอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ออกไปตรวจรักษาราษฎรต่อตั้งแต่เรื่องฟันไปจนถึงอาการไข้อื่น ๆ เรียกหน่วยแพทย์นี้ว่า หน่วยแพทย์พระราชทาน


ต่อมาได้เกิดหน่วยแพทย์ขึ้นมากมาย อาทิ โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และภูมิแพ้พระราชทานโครงการอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่ง จัดตั้งบริษัทบ้านบึงเวชกิจจำกัด และคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนา คลินิกนี้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ตรวจรักษาและบริการทางการแพทย์ ตลอดจนฟื้นฟูสุขภาพประชาชนทั่วไป โดยไม่มุ่งหวังกำไร

แปลงสาธิตพืชสมุนไพร ซึ่งทรงจัดสร้างขึ้นในสวนจิตรลดาเมื่อปี ๒๕๒๙ เพื่อการศึกษาโดยทรงจัดเป็นหมวดหมู่ หาง่าย ดูง่าย ศึกษาง่าย มาจนถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีโครงการหนึ่งที่โด่งดังมากคือ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๑๐๓ - ๑๐๗

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทรงดูแลผู้ปฏิบัติการความมั่นคงของชาติอย่างห่วงใย

งานทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระราชหฤทัยไม่แพ้งานด้านอื่น ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นจอมทัพไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในและภายนอกของราชอาณาจักร ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนยังหน่วยปฏิบัติการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยามปกติ หรือเป็นยามที่มีการปฏิบัติการณ์ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม


ทรงพระราชทานพระบรมราชนุเคราะห์แก่ ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งถูกนำไปรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่ผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสำหรับผู้บาดเจ็บเมื่อหายดีแล้วแต่ยังพิการอยู่ ก็จะจัดการฝึกอาชีพ โดยจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอย่างสมเกียรติ


ในยามปกติ พระองค์จะเสด็จไปทรงเยี่ยมทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ และตำรวจตระเวนชายแดนอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด แต่การฝึกยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีต่าง ๆ ของ ๓ เหล่าทัพและตำรวจตระเวนชายแดน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ และทรงประกอบพิธีเปิดค่ายทหารต่าง ๆ ทรงเยี่ยมสถานศึกษาของนักเรียนทหาร และพระราชาทานกระบี่แก่นักเรียนผู้สำเร็จการศึกษา พระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร และเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลับป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพอากาศ วิทยาลัยการทัพเรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหาร ตำรวจ และพระราชทานชื่อเรือรบ และที่สำคัญคือ พระราชทานคำแนะนำแก่กองทัพในการพัฒนาสร้างยุทโธปกรณ์ และพาหนะที่จำเป็นขึ้นใช้เอง

ที่สำคัญคือ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่หน่วยทหาร ๓ เหล่าทัพ ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า องค์พระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกับกองทัพด้วย พระราชทานเพลงธงชัยเฉลิมพล เพลงมาร์ชราชวัลลภ และเพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน เพื่อใช้ในการสวนสนาม


นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของลูกเสือและลูกเสือชาวบ้านอีกด้วยในด้านของกิจการลูกเสือชาวบ้านนั้น ทรงนำเอาหลักการของลูกเสือมาแนะนำการยุทธวิธีแก่ชาวบ้านในทุกระดับและอาชีพ ทรงพระราชทานเหรียญลูกเสือให้กับผู้บังคับบัญชาการลูกเสือ เพื่อรับเหรียญลูกเสือสดุดี ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานในตอนหนึ่งดังนี้


".....การลูกเสือเป็นปัจจัยส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญมั่นคงของบ้านเมือง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะได้มองเห็นว่าการฝึกหัดอบรมอย่างถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผนและวิธีการของลูกเสือ เป็นการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงส่งเสริมบุคคลไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ให้มีคุณสมบัติในตนเองสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง เช่น ให้มีความเข้มแข็ง อดทน ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความสุจริตซื่อตรง มีความตื่นตัว ประกอบด้วยเชาว์ไหวพริบ รู้จักใช้ความรู้ความคิดอย่างฉลาดและมีวินัยที่ดีประจำตัว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สามารถพึ่งตนเอง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมได้....."
 
ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๙๑ - ๙๓

ทุนภูมิพลพิทักษ์ไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกจิตสำนึกให้ชาวไทยเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติ คือ การพูดต้องออกเสียงให้ชัดเจน ไม่นำภาษาอื่นมาพูดปนกับภาษาไทย และการเขียนต้องให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเพราะการทำให้ภาษาาไทยวิบัติจะทำภาษาไทยเสื่อมสลายไปในที่สุด..... ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้ทุกหน่วยงานน้อมรับอย่างเคร่งครัด วันภาษาไทยแห่งชาติจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

วันภาษาไทยแห่งชาติ
นอกจากจะเน้นเรื่องการเขียนการอ่านให้ถูกอักขระโดยไม่ให้นำภาษาอื่นเข้ามาปะปนในการอ่านและเขียนแล้ว ยังให้ประชาชนรู้จักอนุรักษ์หนังสืออันมีค่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือมีคุณค่าพระราชทานในการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เช่น ประชุมโคลงสุภาษิตในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก พระราชหัตถ์เลขาทรงสั่งราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ กับเรื่องประกอบแบบเรียนดุริยางค์สากลตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ และมงคล ๑๐๘ ในรอยพระพุทธบาท เป็นต้น

การอนุรักษ์แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่น
การอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่พักอาศัยของประชาชนยังเป็นเรือนไม้แบบเก่า เช่น บ้านเรือนไทยโบราณ บ้านเรือนไทยพื้นบ้าน บ้านเรือนแพเดิม และบ้านเรือนไทยร่วมสมัย ซึ่งอัมพวายังได้ชื่อว่า เมืองสามน้ำ อีกด้วย

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งของสมุทรสงคราม ที่ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานทั่วไทยได้ศึกษากันอย่างภาคภูมิใจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเลือกตั้งอัญเชิญเป็นประธานของมูลนิธิตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราขหฤทัยเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กยากจนและไร้โอกาส ทรงถือว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาความคิดสติ ปัญญา ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นเป็นแหล่งศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และบุตรหลานของข้าราชบริพาร ต่อมาทรงพระราชทานราชทรัพย์ให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๕ จังหวัด สร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ต่อมาได้มีผู้โดยเสด็จ พระราชกุศลสร้างโรงเรียนสำหรับชาวเขาขึ้นชื่อว่า โรงเรียนสำหรับชาวเขา ต่อมาสร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นที่จังหวัดนครพนม สร้างโรงเรียนในวัดชื่อว่าโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาแก่เด็กหูหนวกตาบอด ปัญญาอ่อน โดยทรงพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นและพระราชทานเลี้ยงอาหารประจำปี หรือเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม เพื่อเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชประชาสมาชัย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้พัฒนาขึ้น และสามารถรับเด็กนักเรียนเข้าเรียนร่วมกับเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพได้ด้วย


ทรงฟื้นฟูทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นใหม่ เพื่อมอบทุนแก่นักเรียนที่จบการศึกษาได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศในชื่อว่า ทุนภูมิพล สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นเกียรติแก่บัณฑิตเหล่านั้น นับว่าเป็นพระราชภาระค่อนข้างหนัก เพราะแต่ละปีมีบัญฑิตจบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระแทน

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะให้เด็กยากจน และเด็กที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ ได้รับการถ่ายทอดสดทางวิชาการในระดับมาตรฐานเดียวกันกรมสมัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงรับข้อเสนอของเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษจัดทำโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลที่ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเลือกให้โรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดการศึกษาสายสามัญ ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมสู่โรงเรียนทั่วไป ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

"การศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประเทศชาติสืบต่อไป"

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดการศึกษาในโรงเรียนไกลกังวลให้ครบวงจร คือ ให้จัดการศึกษาตั้งแต่วัยอนุบาลจนจบการศึกษาระดับปริญญา ให้อยู่ในสถานศึกษาเดียวกันมีการเปิดหลักสูตรวิชาชีพระดับ ปวช. ปวส. และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดตั้งหอสมุดราชมังคลาภิเษกเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าจองนักเรียนนักศึกษาและประชาชน นอกจากนี้ ยังเปิดวิทยบริการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือปรับปรุงมาตรฐานและสนับสนุนด้านการกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรีไทยและสากล ตลอดจนการฝึกวิชาทหาร และโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเข้าช่วยพัฒนากิจการถึง ๑๙ โรงเรียน


โรงเรียนไกลกังวล เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ นักเรียนในสมัยแรก คือ บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในวังไกลกังวลและบุตรหลานของชาวบ้านท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบทอดพระราชดำริของ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงรับโรงเรียนไกลกังวลเป็นโรงเรียนในพระองค์ และทรงทำนุบำรุงให้เจริญพัฒนาขึ้น จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔

สำหรับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ขณะนี้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ขยายออกไปสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญในพระอารามทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่มิใช่นักเรียนก็สามารถเปิดโทรทัศน์ชมรายการต่าง ๆ เพื่อศึกษาด้วยตนเองได้


การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวน ๖ ชุดแก่มหาวิทยาลัยเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามนำไปแปลสอนนักเรียน นักศึกษา ในปี ๒๕๔๑ และปีเดียวกันนี้ สถาบันแห่งชาติเนมิ แผนกวิจัยและพัฒนาประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ลงนามในหนังสือทำความตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการสอนภาษาต่างประเทศผ่านดาวเทียมด้วย เช่น ภาษาจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น

ต่อมาได้มีประเทศเพื่อนบ้าน ขอพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเผยแพร่การเรียนแก่นักเรียน นักศึกษาของตนอีก เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอนภาษาของตนผ่านโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมพร้อมวิชาอื่น ๆ ให้อีกด้วย

ปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ศึกษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีศูนย์การเรียนรู้ ๔ แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ในชิคาโก วัดป่าธรรมชาติ นครลอสแองเจลิส วัดไทยธรรมประทีป ฝรั่งเศสและวัดศรีนคริทราวราราม

ส่วนด้านภายในประเทศ ทรงจัดโครงการศึกษาทัศน์ นำนักเรียน นักศึกษา และครู จากโรงเรียนไกลกังวลออกไปศึกษาไปทัศนศึกษายังสถานที่จริง และทรงพระกรุณาสอนนักเรียนด้วยพระองค์เองด้วย

โครงการพระดาบส
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่เยาวชน และผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ในระหว่างเรียนโรงเรียนจะรับงานมาให้นักเรียนปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และหารายได้ให้แก่ผู้เรียน โดยดำเนินการในรูปสหกรณ์ โครงการนี้ผู้เข้าอบรมได้ไม่จำกัดเพศ วัย และวุฒิการศึกษา ผู้สมัครเข้าอบรมจึงมีทั้งเยาวชนที่มีฐานะยากจนไปถึง ตำรวจ ทหาร และพลเรือนที่ทุพพลภาพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า เปิดสอนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๙

 
พุทธศักราช ๒๕๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ในชื่อเดิมว่า มูลนิธิพระดาบส มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ พลตำรวจตรีสุชาติ  เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิ

สุดท้ายคือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มดำเนินการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ และเสร็จสิ้นลงในปี พุทธศักราช ๒๕๑๖ รวม ๓ ฉบับ ในสารานุกรมสำหรับเยาวชนมีครบทุกวิชา รวมทั้งความรู้ในด้านต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๘๑ - ๘๗

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระอาจารย์พระองค์แรก

พระปฐมบรมราชโองการใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชจักรีวงศ์ กรุงเทพมหานคร นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีศรีสินทรมหาสมุทร หรือ กรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ฝั่งบางกอก หรือที่เรียกกันว่า กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชธานีนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเปลี่ยนคำว่าบวร เป็นอมร นอกนั้นยังคงเดิม ประชาชนทั่วไปมักจะเรียกสั้น ๆ ว่ากรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ และชาวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกกันว่าบางกอก

ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเวลาได้ ๒๒๘ ปี มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เดียวกันครองราชย์สืบต่อกันมาแล้วรวมทั้งสิ้น ๘ รัชกาล พระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๙ มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะที่พระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ และประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกา

พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

เมื่อแรกทรงพระราชสมภพ ทรงดำรงพระอิสริยศเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทาน พระนามต่อท้ายพระอิสริยยศว่า ภูมิพล ซึ่งมีความหมายว่า พลังของแผ่นดิน เป็นอำนาจที่หาใดเปรียบมิได้

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทิวงคตหลังจากทรงพระประชวรมาระยะหนึ่ง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงเจริญพระชนมายุไม่ถึง ๒ พรรษา

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มการศึกษาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวีส ทรงศึกษาขั้นต้นที่มาแตร์เดอี ปทุมวัน เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มอง ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และ ภาษาอังกฤษ เป็นเวลา ๖ ปี โดย ๒ ปีสุดท้าย พระองค์ไม่ได้เสด็จไปกลับเหมือน ๔ ปีแรก เพราะสมเด็จพระราชชนนี ทรงจัดให้เข้าเป็นนักเรียนประจำ ที่ต้องช่วยเหลือตนเองทุกอย่าง จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแซลลี ซือ โลซานน์่่่่่่่่่่

๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลไทยจึงได้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชจักรีวงศ์ พระวรรงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘

เนื่องจากที่ประทับเก่าคับแคบไป ไม่สมพระเกียรติ สมเด็จพระราชชนนีจึงจัดหาที่ประทับให้ใหม่เป็นบ้านขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ติดกับเมืองโลซานน์ พระราชทานชื่อว่า วิลลาวัฒนา ต่อมาสมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้น ต้องตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จนิวัตถึงเมืองไทย โดยประทับอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเป็นการชั่วคราวพร้อมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงสร้างขวัญกำลังใจและความหวังให้แก่ประชาชนไทยอย่างมั่นคง ขณะนั้นทั้ง ๔ พระองค์ประทับที่ประเทศไทยประมาณ ๒ เดือนจึงเสด็จฯ กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ครั้นปี พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงสอบไล่ และได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แห่งเมืองโลซานน์ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์

วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง ประทับยังพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ปีต่อมา ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยโท นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑ กองพันที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ พระบรมเชษฐาธิราช เสด็จทรงเยี่ยมประชาชนทั้งในเมืองและชนบทอย่างมิได้ขาดสาย

ครั้นต่อมาวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แต่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในการนี้โปรดให้ นายเปรื่อง  ศิริภัทร พระอาจารย์ที่รัฐบาลไทยจัดส่งไปถวายพระอักษรภาษาไทย เพื่อเสริมความรู้ทางด้านศิลปและวัฒนธรรมของชาติ

แม้นจะทรงจบหลักสูตรหลายแขนงแล้ว ก็ยังทรงศึกษาต่อแขนงวิชาใหม่ ๆ อาทิ กฎหมาย และการปกครอง ณ มหาวิทยาลัยในโลซานน์ เพื่อให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับการเป็นพระประมุขของประเทศ


นอกจากสถานศึกษาทั่วไปแล้ว พระอาจารย์พระองค์แรกของพระองค์ก็คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จพระราชชนนี เริ่มต้นจากการให้ทุกพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ทั้งด้านจิตใจและการปฏิบัติและให้ทรงพัฒนาด้วยความคิดด้วย โดยยึดหลักการ ๙ ประการคือ
  1. ทรงดูแลให้ลูกมีสุขภาพอนามัยดี ร่างกายได้รับอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ
  2. ทรงฝึกให้มีระเบียบวินัยทั้งกายและใจ
  3. ทรงส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิด ให้รู้จักพัฒนาตัดสินใจด้วยตนเอง
  4. ทรงอบรมใหมีความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น
  5. ทรงอบรมให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และฝึกทำงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง
  6. ทรงอบรมสั่งสอนในเรื่องศาสนาจริยธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณา เป็นต้น
  7. ทรงอบรมให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
  8. ทรงดูแลให้เด็กได้สนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ตามวัย
  9. ทรงอบรมให้มีชีวิตเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย
ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๔๑ - ๔๖

พระราชพิธีต่าง ๆ

".....ประเพณี นั้นหมายถึง แบบแผน หรือขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันมา การสิ่งใดที่ริเริ่มแล้วได้รับความนิยมถือปฏิบัติตามกันต่อไป จัดว่าเป็นประเพณี คนเราตะดำเนินชีวิตก็ต้องมีแบบแผนเป็นหลัก เราจึงต้องมีประเพณีเป็นแนวปฏิบัติ....."
นี่คือตอนหนึ่งที่ทรงกล่าวถึงความสำคัญของประเพณี ซึ่งประเพณีต่าง ๆ ของไทยมีหลากหลาย จะขอกล่าวพอเป็นสังเขป ดังนี้
พระราชพิธีสมโภชน์ขึ้นระวางช้างสำคัญ
ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีช้างสำคัญ มีผู้น้อมเกล้าถวายมาสู่พระบารมีถึง ๑๒ เชือก โดยเชือกแรกคือ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชน์ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๒
 
 
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ซึ่งพระราชพิธีนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เชิญแขกผู้มีเกียรติ คณะทูตานุทูตผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศไปร่วมงานกันอย่างมาก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ โดยพระกรุณาเสด็จไปงานเอง นอกจากปีใดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าวจากสวนจิตรลดาและที่อื่น ๆ ไปร่วมพระราชพิธีนี้ด้วย ชาวนาและเกษตรกรก็จะเก็บจากท้องนาในพระราชพิธีกลับไปด้วยความปลื้มปิติ


การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เรือในโรงเรือที่ทางการเก็บรักษาไว้ น่าจะนำมาบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปในพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการทอดกฐินทางชลมารคด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการบำรุงดูแลรักษาให้เรือมีสภาพดีอยู่เสมอแล้ว ยังเป็นการรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ และเป็นการเผยแพร่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์น่าภูมิใจให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอีกด้วย


พระราชพิธีมงคลสมัยครบรอบการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีขึ้นตามลำดับเวลาแห่งกาลนั้น ๆ เช่น พระราชพิธีรัชดาภิเษก ครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ และ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เป็นต้น
พระราชพิธีครอบองค์พระพิราพ
ซึ่งเป็นท่ารำหน้าพาทย์สูงสุด และศักดิ์สิทธิ์ในวิชานาฏศิลป์ไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชพิธีพระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ ครูโขน ละคร และต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย
นอกจากการโขนการละครแล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถในการแต่งเพลงและโน๊ตอีกด้วย ทรงดำริว่าเพลงไทยยังไม่มีโน๊ตถ้าขืนปล่อยไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยการร้องเพลงไทยก็จะค่อย ๆ สูญสลายไปกับผู้ขับร้องและคนร่วมสมัยเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือโน๊ตเพลงไทยขึ้น และพระราชดำริให้กรมศิลปากรทำวิจัยมาตรฐานความถี่ของเสียงเครื่องดนตรีไทย ส่วนการแสดงโขนละครนั้นได้พระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงแต่งหน้า และเครื่องแต่งกายให้คงถาวรดั้งเดิม
ทางด้านการพระศาสนา
ในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก แม้จะเป็นพุทธมามกะ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงทอดทิ้งศาสนาอื่น ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมพ์แก่ศาสนาอื่นอย่างทั่วถึงและเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกซ์ก็ตาม ชาวไทยทุกคนมีสิทธิ์เลือกนับถือ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างเสรีภาพ
ดังนั้น ในวันที่ ๒๒ กันยายน ถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ปี พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกผนวชตามราชประเพณีแต่เบื้องโบราณ เป็นการฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งประเพณีโบราณดังกล่าวได้อย่างดียิ่ง ทั้งนี้ทรงมอบราชกิจของบ้านเมืองแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการยึดมั่นคุณธรรม ไม่ว่าตะเป็นในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ หรือธรรมดาอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนาก็ตาม ทรงปฏิธรรมบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ตามเทศกาลแห่งพระพุทธศาสนา และราชประเพณีอย่างเลื่อมใสศรัทธา และปฏิบัติธรรมบริจาคทานทำนุบำรุงในกิจการทุกศาสนาโดยไม่ทรงว่างเว้น
ในทางพระพุทธศาสนา
ทรงเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ทรงสร้างปูชนียวัตถุและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ ทรงเผยแพร่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ทรงส่งเสริมผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ทรงส่งเสริมการพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาสำหรับเด็ก เป็นต้น

ทางศาสนาอิสลาม ทรงส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมที่ถูกต้อง ทางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการบริหารองค์การศาสนาอิสลาม ทรงสนับสนุนการสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานเมาสลิดกลาง
ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่สำนักพราหมณ์ คือ เทวสถาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้าพราหมณ์และพราหมณ์อาวุโสให้มีหน่วยงานเรียกว่า ฝ่ายโหรพราหมณ์ในกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
ศาสนาคริสต์ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโรมันคาทอลิค และนิกายโปรเตสแตนต์ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมในพิธีสำคัญของศาสนาทั้ง ๒ นิกาย ในโอกาสอันสมควร ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ของทั้ง ๒ นิกาย
ส่วนศาสนาซิกข์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงานฉลองครบ ๕๐๐ ปี ศาสนาซิกข์ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๖๘ - ๗๓

ทรงแกล้งดิน

การอบรมเบื้องต้นจากปฐมบรมอาจารย์ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในข้อที่ ๖ จาก ๙ ข้อ ซึ่งทรงอบรมเสมอเกี่ยวกับด้านศาสนา จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แม้เมื่อทรงพระเยาว์ โดยเสด็จตามพระบรมเชษฐาธิราชนิวัตประเทศไทย ไม่ทรงปล่อยให้วันเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มักตามเสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนทั้งในเมืองและชนบทไม่ว่างเว้น ทรงห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทำให้ทรงมีความรู้ติดตัวมาตลอดเวลา กระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์

นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร์ ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดการศึกษาและขาดความรู้ เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงวางแผนงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยข้อมูลที่เสด็จไปทรงพบมาอย่างรอบคอบ เพื่อทรงสร้างแบบอย่างที่ดี จากปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ เริ่มโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา โดยเฉพาะทางภาคอีสานที่มีแค่ความแห้งแล้ง ให้มีการทำฝนเทียมสร้างความชุ่มชื้น ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้น่าสงสาร ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัญหาเรื่องดิน ซึ่งทรงพบว่าประเทศไทยมีดินหลายชนิด เหมาะหรือไม่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดใดบ้าง เช่น ดินดาน ดินทราย ดินปนหิน ดินกรวด ดินแข็ง ดินลูกรัง ดินเปรี้ยว และดินเค็ม เป็นต้น ทรงศึกษาและแก้ไข บอกกล่าวแก่ประชาชนชาวไร่ชาวนาอย่างทั่วถึงและเข้าใจ ตัวอย่างเช่น การแก้ไขดินเปรี้ยว ทรงแก้ไขด้วยวิธี แกล้งดิน โดยตรัสว่า ".....การแกล้งดิน เป็นขบวนการที่เร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ที่แร่กำมะถันหรือสารประกอบไพไรท์ โดยการทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งดินจะสัมผัสอากาศกลายเป็นกรดอีกครั้ง กลายเป็นอ๊อกไซด์ของเหล็ก และซัลเฟต และเมื่อดินเปียก ซัลเฟตจะผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปสลับมาจนกลายเป็นดินเปรี้ยวหรือดินกรดจัด หรือไม่สามารถชื้นและเติบโตได้ จึงให้หาการแก้ไขความเป็นกรดของดินโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รับการสนองพระราชดำริในการเสาะหาที่ดินที่เหมาะที่สุด คือ การเซาะล้างดินควบคู่กับการใช้ปูนผนวกกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ลึกไม่เกิน ๑ เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แร่กำมะถันที่อยู่ใต้ดินชั้นล่างสัมผัสอากาศในดิน และปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา เมื่อกำมะถันมีน้อย ดินเปรี้ยวน้อยลง ทรงเรียกว่าระบบซักผ้า โดยใช้น้ำจืดชะล้างน้ำเปรี้ยวออกไป ความเปรี้ยวก็ลดน้อยลง....."


นอกจากปัญหาความแห้งแล้งและปัญหาดินแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริต่าง ๆ อีกมากมาย นับจากปี พุทธศักราช ๒๔๙๕ มาจนถึงบัดนี้ นับจำนวนโครงการในพระราชดำริได้กว่า ๓,๐๐๐ โครงการไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม และโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง และโครงการพัฒนาดอยตุง เป็นต้น จากดิน ป่า เขา ก็มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแยกคร่าว ๆ ได้ประมาณ ๕ โครงการ คือ
  1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
  2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
  3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
  4. โครงการระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่ม
  5. โครงการบรรเทาอุทกภัย
ซึ่งโครงการใหญ่ ๆ ทั้ง ๕ โครงการนี้ ยังสามารถแยกย่อยออกมาได้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน อาทิ การขุดคลอง หนอง และบึง การสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างฝายทดน้ำ เก็บกักน้ำ และป้องกันน้ำท่วม ด้วยการขุดอ่างเก็บน้ำแบบแก้มลิง ซึ่งช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำสมบูรณ์ รักษาต้นน้ำลำธาร ทำให้ประชาชนไม่ขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยให้ประชาชนทุกท้องถิ่นมีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง บรรเทาอุทกภัย ช่วยลดความรุนแรงของภัยจากอุทกภัยซ้ำซาก ช่วยระบายน้ำจากที่ลุ่มหรือดินพรุนสามารถนำที่ดินนั้นมาพัฒนาเพื่อการเกษตร และช่วยบรรเทาปัญหาการบุกรุกทำลายป่า

โครงการกังหันชัยพัฒนา ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ต้นทุนไม่สูง ปัจจุบันได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางทั้งการบำบัดน้ำเสียในคู คลอง สระ และในระบบอุตสาหกรรม เรียกอีกอย่างว่าเป็นโครงการน้ำดีไล่น้ำเสียก็ว่าได้

โครงการพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักคิดง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์มหาศาล คือ การใช้ธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว โครงการแก้มลิงซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และในกรุงเทพฯ หลายแห่ง การจราจรซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พระองค์ก็ไม่ทรงนิ่งนอนพระทัย ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนนรัชดาภิเษก หรืออีกชื่อว่า ถนนวงแหวนชั้นใน เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๒๔ และเสร็จสิ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ คือ เชื่อมโยงถนนและสะพานย่อย ๆ เข้าด้วยกัน ปรับปรุงเป็นทางใหม่จากถนนบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่ถนนราชดำเนิน จนถึงถนนพระรามที่ ๙ เพื่อสู่วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และถนนกรุงเทพ - ชลบุรีสายใหม่

โครงการถนนคร่อมคลองประปา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต น้ำในคลองประปาอาจจะไม่สะอาดพอ เพราะสภาพแวดล้อมจากชุมชนต่าง ๆ ที่เพิ่มขยายขึ้นควรจะปิดทำอุโมงค์ส่งน้ำเข้ามา ใช้พื้นที่ด้านบนเป็นถนนซึ่งสามารถขยายเส้นทางขนส่งเพิ่มขึ้น

โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ทรงดำริสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับรถบรรทุกที่วิ่งอยู่บนเส้นทางเชื่อมโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่างเขตอุตสาหกรรมพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และเขตอุตสาหกรรมปู่เจ้าสมิงพราย กับบริเวณท่าเรือคลองเตย ช่วยเบี่ยงเบนทางมิให้รถวิ่งเข้าไปในตัวเมือง และจะทำให้การขนส่งเชื่อมต่อระหว่างโรงงานกับโรงงานเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

โครงการคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เป็นทางลอยฟ้าบนถนนบรมราชชนนี นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงข่ายจตุรทิศตะวันตก - ตะวันออก ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรได้เป็นอย่างดี และในการนี้กรมทางหลวงแผ่นดินได้ขยายพื้นที่จราจรในแนวราบเป็น ๑๒ เส้นทางการจราจรอีกด้วย

โครงการสะพานพระราม ๘ เป็นพระราชดำริอีกโครงการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานผังสะพานให้กรุงเทพมหานครไปศึกษา โดยพระราชทานนามสะพานนี้ว่า สะพานพระราม ๘ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕

นอกจากถนนตามโครงการใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังพระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงเส้นทางจราจรอีกหลายจุด อาทิ ถนนวัดสุทธาวาส ทรงทอดพระเนตรเห็นการจราจรติดขัด จึงมีพระราชดำริสร้างถนนสายใหม่เลียบทางรถไฟสายใต้ จากปลายถนนอิสรภาพจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ทำให้การจราจรที่แออัดแถบนั้นเคลื่อนตัวได้สะดวกขึ้น

ทรงมีพระราชดำริขยายพื้นที่จราจรเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยกเลิกสัญญาณไฟจราจร และจัดระเบียบการจราจรเสียใหม่ เพิ่มช่องจราจรช่องทางลงสะพานพระปิ่นเกล้าให้เป็น ๔ ช่องจราจร และอีก ๑ ช่องทางซ้ายสุด สร้างเป็นทางกลับรถเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้า เพื่อลอดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกสู่สนามหลวงได้
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณถนนพระรามที่ ๙ เป็นการสร้างเส้นทางลัดเพื่อระบาย ๓ เส้นทาง คือ ถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนเทียมร่วมมิตร ถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนประชาอุทิศ และถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนเพชรบุรีตัดใหม่
นอกจากนี้ยังพระราชทานจักรยานยนต์ เพื่อให้ตำรวจใช้ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอีกต่างหาก

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๕๗ - ๖๒

ทรงประสบอุบัติเหตุ

วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ เป็นวันที่ประชาชนไทยและประชาชนทั่วโลกระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวออกไปทั่วโลกว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงประสบอุบัติเหตุรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุก ใกล้ทะเลสาบเจนีวา ทรงเข้ารักษาพระองค์ ณ เมืองมอร์เซล


ในการนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่กับสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ได้เฝ้าถวายการพยาบาลโดยตลอด ต่อมา วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ พระองค์จึงทรงประกอบพิธีหมั้น สร้างความชื่นชมให้แก่ประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นข่าวมงคลครั้งแรกที่ประชาชนต่างตะโกนก้องในใจด้วยความปลื้มปิติ
หลังจากทรงศึกษาครบตามหลักสูตรแล้ว ในวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระคู่หมั้นเสด็จนิวัตพระนครโดยเรือพระที่นั่ง ซีแลนเดีย เมื่อมาถึงปากอ่าวไทย จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีอยุธยาเข้าสู่พระนคร ประชาชนต่างตั้งโต๊ะหมู่บูชาเต็มสองฝั่งถนนจากท่าราชวรดิษฐ์กระทั่งถึงพระบรมมหาราชวัง เพราะต่างตระหนักดีว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป พวกเขาจะได้มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิดพระยุคลบาท โดยไม่ต้องว้าเหว่ดังอดีตที่ผ่านมา
ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จฯ นิวัตพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาพิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์


ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
และในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็ตพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงยึดมั่นและปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการตลอดมา ตราบจนปัจจุบันนี้

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงรักษาพระสุขภาพตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ และในระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาเป็นพระองค์แรกคือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔


เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระองค์ทั้ง ๓ พระองค์ จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยโดยทรงประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราวในเวลาต่อมา เพื่อปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้เหมาะสมแก่การเป็นที่ประทับถาวรต่อไป ในขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส และพระธิดารวม ๓ พระองค์คือ วันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส พระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลยเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร" จากนั้นในวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ทรงมีพระประสูติกาลพระธิดาอีกพระองค์ พระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" และพระองค์สุดท้ายเป็นพระราชธิดาเช่นกัน ทรงพระนามว่า "เจ้าฟ้าจุฬาพรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี" ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐


ต่อมาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน ที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน และในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ หลังจากทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้ว ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กลับไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน

ในปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายและมีพระปรีชาสามารถสมควรที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระราชอิสริยศักดิ์ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชบิดาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณ์สว่างควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศ์อดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฏราชกุมาร

ในการนี้ได้มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ และพระราชลัญจกร ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ พระราชพิธีศรีสัจจปาน การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช  ๒๕๑๕ พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระองค์ต่อมาที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระอิสริยยศ และเฉลิมพระนามาภิไธยคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดลโสภาคย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระเจ้าหลานเธอรวม ๘ พระองค์คือ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา" "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีรารีรัตน์" "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ" พระธิดาและพระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร


"พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์" "พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ" พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาพรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

"คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น" "คุณพุ่ม  เจนเซ่น" (เสียชีวิต) "คุณสิริกิติยา  เจนเซ่น" ธิดาและโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งต่อมาได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ปัจจุบันจึงมีอิสริยยศเป็น ทูลกระหม่อมหญิง

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๔๙ - ๕๓

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม

พระบรมฉายาลักษณ์แห่งความประทับใจ
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


พระปฐมบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓

ตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี ที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร ด้วยจำนง พระราชหฤทัยที่จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม ตามพระปฐมบรมราชโองการซึ่งบัดนี้อาณาประชาราษฎ์ทั่วทั้งแผ่นดินก็ได้ประจักษ์ว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่เปรียบมิได้ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกภูมิภาคโดยถ้วนหน้า สะท้อนผ่านพระบรมฉายาลักษณ์แห่งความประทับใจ ที่พระองค์เสด็จทรงงานท่ามกลางพสกนิกรอย่างใกล้ชิด ทั้งยังทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้ทุกคนยึดมั่นในคุณธรรม และมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวงเพื่อดำรงชีวิตที่ดีและพอเพียง


ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนม์พรรษา ๘๓ พรรษาทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้คัดเลือกพระบรมฉายาลักษณ์แห่งความประทับใจ จัดแสดงเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เผยแพร่พระเกียรติคุณให้ขจรขจายและจารึกอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๖ - ๗

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์

สังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ - ๓ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔)
สังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกันสังคมไทยสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี เป็นสังคมศักดินา มีการแบ่งชนช้้นของคนในสังคมแบ่งออกเป็น ๖ กลุ่ม
๑.  พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขสูงสุดของอาณาจักรทรงเป็นเสมือน "เจ้าชีวิต" และ "เจ้าแผ่นดิน" ของบรรดาผู้คนและแผ่นดินในสังคมไทย
๒.  พระราชวงศ์ หมายถึง บรรดา "เจ้านาย" ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือญาติของพระมหากษัตริย์บางทีเรียกว่า "พระบรมวงศานุวงศ์" มี ๒ ประเภท คือ สกุลยศ กับ อิสรยศ
  • สกุลยศ คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และ หม่อมเจ้า
  • อิสริยศ คือ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ และกรมสมเด็จพระ
๓.  ขุนนาง คือ กลุ่มบุคคลที่รับราชการแผ่นดิน มีศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่งเป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ ยศของขุนนางมี ๘ ลำดับ ได้แก่ พัน หมื่น ขุน หลวงพระ พระยา เจ้าพระยา และสมเด็จเจ้าพระยา
๔.  พระสงฆ์ เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือจากสังคมและคนทุกชนชั้น ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนไพร่สามัญชน และไม่มีศักดินาเหมือนชนชั้นอื่น ๆ
๕.  ไพร่ คือ ราษฎรสามัญชนที่เป็นชายฉกรรจ์ในสังกัดของมูลนาย ไพร่มี ๒ ประเภท คือ
  • ไพร่หลวง คือ ไพร่ของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานให้แก่กรมกองต่าง ๆ ถ้าไพร่หลวงคนใดส่งเงินหรือสิ่งของมาแทนการเข้าเวรรับราชการจะเรียกว่า "ไพร่ส่วย"
  • ไพร่สม คือ ไพร่ในสังกัดของมูลนาย (พระบรมวงศานุวงศ์ หรือ ขุนนาง)
๖.  ทาส คือ กลุ่มคนที่มีฐานะต่ำสุดในสังคมไทย ไม่มีกรรมสิทธิ์ในชีวิตของตนเอง มีหน้าที่รับใช้แรงงานให้นายโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน นายเงินเจ้าทาสจะลงโทษแต่ห้ามมิให้ถึงตาย ทาสมีศักดินาได้ ๕ ไร่ ทาสเพิ่มจำนวนขึ้นมากส่วนใหญ่เกิดจากการมีหนี้สินจนต้องขายตัวเอง หรือบุตรภรรยาลงเป็นทาส เช่น ได้รับอนุญาตจากนายเงินเจ้านายของทาสให้บวชเป็นพระสงฆ์ หรือตกเป็นภรรยาและลูกกับเจ้าของทาส

ลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ
สมัยรัชกาลที่่ ๔ อังกฤษได้ส่งทูตมาเจรจาทำสัญญากับไทยคือ เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบฝ่ายอังกฤษอยู่หลายประการ จึงมีผลให้ไทยต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีชีวิตความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว

สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปสังคมให้ทันสมัยหลายด้าน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
          ๑.  การยกเลิกระบบไพร่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายเกณฑ์ทหาร (พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔) ให้ชายฉกรรจ์ที่มีอายุครบ ๑๘ ปี บริบูรณ์ต้องเข้ารับราชการเป็นทหาร ๒ ปี จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ยกเลิกระบบไพร่ของประเทศไทยโดยสมบูรณ์
          ๒.  การเลิกทาส ทรงดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ตรากฎหมายเลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร (พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. ๑๒๔) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ห้ามมิให้มีการซื้อขายทาสอีกต่อไป
          ๓.  การปฏิรูปการศึกษา รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนและระบบการศึกษาแผนใหม่ตามแบบสังคมตะวันตก เพื่อเตรียมคนเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่และเป็นกำลังพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนี้
  • จัดตั้งโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง มีชื่อว่า "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ)
  • จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรสามัญชน โรงเรียนแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
  • จัดตั้งกรมศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อดูแลจัดการศึกษาของชาติ เช่น จัดทำหลักสูตร การเรียนการสอน จัดทำหนังสือแบบเรียน
สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงปฏิรูปการศึกษาต่อมา เช่น การประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นการบังคับให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยในสมัยประชาธิปไตย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ ไม่มีสังคมศักดินา ไพร่ และทาส ทุกคนในสังคมไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การจำแนกระเบียบสังคมมิได้แยกออกตามฐานะของระบบศักดินา แต่จำแนกออกตามฐานะของอาชีพ ได้แก่ ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ประกอบการสาขาอาชีพต่าง ๆ ปัญญาชน เช่น ครู อาจารย์ นักวิชาการต่าง ๆ กรรมกร และชาวไร่ชาวนา

ศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ - ๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔) เป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่นอกจากนี้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวัฒนธรรมในยุคนี้ด้วย

ลักษณะศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สำคัญมีดังนี้
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการทำนุบำรุงทางด้านศิลปกรรม
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม
          รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นอกจากนี้ยังให้จัดสร้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


          รัชกาลที่ ๒ ทรงสนพระทัยในการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่าง ๆ โปรดให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แต่สร้างสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๓


          รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดบวรนิเวศวิหาร วัดกัลยาณมิตร และวัดประยูรวงศ์ นอกจากนี้ให้สร้างเรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐที่วัดยานนาวา


๒.  ด้านประติมากรรม
           รัชกาลที่ ๑ พระองค์มิใคร่จะได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์โบราณที่ทิ้งไว้ทรุดโทรมที่เมืองเหนือลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์ถึง ๑,๒๐๐ องค์เศษ
          รัชการที่ ๒ พระพุทธรูปมักมุ่งเอาความสวยงามทางลวดลาย
          รัชการที่ ๓ เครื่องประดับของพระพุทธรูปเป็นหลัก

๓.  ด้านจิตรกรรม
ภาพเขียนในสมัยนี้คงความศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย แต่มีศิลปะจีนอยู่บ้าง ภาพเขียนบนฝาผนังโบสถ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ มักใช้สีและปิดทองลงบนภาพเขี้ยน
          รัชกาลที่ ๑ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร วัดระฆังโฆษิตาราม
          รัชกาลที่ ๓ ภาพเขียนพระอุโบสถ และพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามและในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม กรุงเทพฯ


๔.  ด้านประณีตศิลป์
งานประณีตศิลป์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคงทำตามรูปแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น งานแกะสลักบานประตูไม้สัก (ลายจำหลักไม้) วัดสุทัศน์เทพวราราม ฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

๕.  ด้านนาฏศิลป์
          รัชกาลที่ ๑ ส่งเสริมทางด้านการดนตรีและการฟ้อนรำ มีการจัดตั้งโขนทั้งวังหลวง และวังหน้าของตนเอง
          รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะแทละท่ารำต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง
          รัชกาลที่ ๓ พระองค์ไม่ทรงโปรดให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง แต่ก็มีผู้มีฐานะมีตระกูลให้ความสนใจกับศิลปะประเภทนี้

๖.  ด้านวรรณกรรม
          รัชกาลที่ ๑ ทรงสนพระทัยในด้านวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ และแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น สามก๊ก และราชาธิราช


          รัชกาลที่ ๒ เป็นยุคทองของวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ งานพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ บทละครเรื่องอิเหนา
          รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงสนับสนุนการแปลและเรียบเรียงวรรณคดีของประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เช่น เรื่อง "มิลินทปัญญา"

การเปลี่ยนแปลงศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างให้ทันสมัยตามแบบอย่างของชาติตะวันตก มีดังนี้
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม สถานที่ราชการและพระราชวังเริ่มนิยมสร้างแบบศิลปะตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ และพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
๒.  ด้านจิตรกรรม จิตรกรสมัยนี้เริ่มเขียนภาพเหมือนจริง มีแรเงา และมีรูปทรงความลึก ความกว้าง ตามแบบศิลปะตะวันตก จิตรกรคนแรกที่เขียนภาพแบบนี้คือ พระภิกษุ "ขรัวอินโข่ง" แห่งวัดราชบูรณะ
๓.  ด้านประณีตศิลป์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือพายพระที่นั่ง "อนันตนาคราช" โดยหัวเรือทำเป็นพญานาคเจ็ดเศียร
๔.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่างที่ล้าสมัย เช่น ทรงอนุญาตให้ชาวต่างประเทศนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าและแสดงความเคารพโดยการถวายคำนับ และทรงประกาศให้เจ้านายและขุนนางสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า เป็นต้น

การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลทีี่ ๕
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุงด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ทันสมัย ดังนี้
๑.  ด้านสถาปัตยกรรม ผลงานที่สำคัญ คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นศิลปะแบบตะวันตกสร้างด้วยหินอ่อน และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ก่อสร้างเป็นตึกมีลักษณะเป็นศิลปแบบไทยผสมกับตะวันตก
๒.  ด้านวรรณกรรม โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "หอพระสมุดวชิรญาณ" เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารต่าง ๆ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน
๓.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี โปรดเกล้าฯ มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น ยกเลิกประเพณีหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้าของเจ้านายและขุนนางไทย แต่ให้ยืนหรือนั่งเก้าอี้ตามแบบชาวตะวันตก ยกเลิกผมทรงมหาดไทยของข้าราชการชายในราชสำนัก แต่ให้เปลี่ยนมาไว้ผมทรงสากลแบบฝรั่ง ยกเลิกการนุ่งผ้าโจงกระเบนของข้าราชการฝ่ายทหารทุกกรมกรอง แต่ให้สวมกางเกงขายาว สวมถุงเท้าและรองเท้า เป็นเครื่องแบบทหารตามแบบอย่างทหารในยุโรป
๔.  ด้านประเพณีการสืบสันตติวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีมาแต่เดิมและทรงสถาปนาตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร" ขึ้นแทน

การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมให้ทันสมัยรัชกาลที่ ๖
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการเปลี่ยนแปลงด้านศิลปวัฒนธรรมไทยให้เข้าสู่ความทันสมัย ดังนี้
๑.  ด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมไว้หลายประเภท เช่น บทละคร (เวนิสวาณิช) และงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นต้น
๒.  ด้านวัฒนธรรมประเพณี มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยตามแบบอย่างชาติตะวันตก เช่น
  • กำหนดให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ
  • ตราพระราชบัญญัตินามสกุล เพื่อให้คนไทยมีนามสกุล
  • กำหนดคำนำหน้านาม เช่น เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง และนางสาว
  • กำหนดให้ใช้ พ.ศ. (พุทธศักราช) และให้ยกเลิก ร.ศ. (รัตนโกสินทร์ศก)
  • ยกเลิกการนับเวลาเป็นทุ่มและโมง แต่ให้ใช้คำว่า "นาฬิกา" แทน
การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรม
๑.  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ ดังนี้คือ
  • ยกเลิกพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่มาเริ่มขึ้นอีกในรัชกาลปัจจุบัน
  • ให้ข้าราชการนุ่งกางเกงขายาวแทนนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน
๒.  นโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมของหลวงพิบูลสงคราม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ดังนี้คือ
  • เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ใน พ.ศ. ๒๔๘๒
  • ยกเลิกบรรดาศักดิ์ข้าราชการพลเรือน เช่น เจ้าพระยา พระยา พระหลวง ขุน หมื่น พัน (เมื่อนายควง  อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกคำประกาศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วคืนบรรดาศักดิ์ให้ข้าราชการดังเดิมใน พ.ศ. ๒๔๘๘
  • ตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๘๕
  • ประกาศรัฐนิยมต่าง ๆ ถึง ๑๒ ฉบับ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม เช่น ให้ใช้ช้อนส้อมแทนการเปิบข้าวด้วยมือ ไม่ส่งเสียงอื้อฉาวบนสะพาน สวมหมวก เสื้อนอก กางเกงขายาว นุ่งกระโปรง สวมรองเท้า เลิกกินหมาก
  • ยกย่องฐานะสตรีให้ทัดเทียมกับชาย
  • เปลี่ยนแปลงการนับวันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน เป็น ๑ มกราคม
  • ปรับปรุงตัวอักษรไทยใหม่ โดยตัดสระออก ๕ ตัว พยัญชนะออก ๑๓ ตัว คงเหลือพยัญชนะเพียง ๔๔ ตัว ตัวที่ตัดคือตัวที่มีเสียงซ้ำกัน จึงทำให้การเขียนเปลี่ยนไปด้วย เช่น กระทรวง เขียนเป็น กระซวง ฤทธิ์ เขียนเป็น ริทธิ์ ให้ เขียนเป็น ไห้ ทหาร เขียนเป็น ทหาน เป็นต้น
  • ให้ใช้เลขสากล (อารบิก) แทน เลขไทย
๓.  ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ (๒๕๐๖ - ๒๕๑๐) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังต่อไปนี้คือ
  • พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจงานสวนสนามของนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และตกแต่งโคมไฟตามสถานที่ราชการและบ้านเรือน และกำหนดให้วันนี้ คือ ๕ ธันวาคม เป็นวันชาติไทย แทนวันที่ ๒๔ มิถุนายน
  • พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา
  • พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้ากฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
  • พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหายาตราทางสถลมารค (การเสด็จเลืยบเมืองทางบก)
๔.  ในสมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร (๒๕๐๖ - ๒๕๑๖) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังนี้คือ
  • พระราชพิธีรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่รัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
  • พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ นับเป็นครั้งที่ ๓ ในประวัติศาสตร์ไทย
๕.  ในสมัยพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ปัจจุบัน) ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ดังนี้คือ
  • การสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปีใน พ.ศ. ๒๕๒๕
  • การเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๕๓๐
  • พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดของชาติไทย เมื่อ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
วรรณกรรมและศิลปกรรม
๑.  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รูปแบบวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมมากในสังคมไทย คือ นวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดี
๒.  นวนิยายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการเลียนแบบตะวันตก มาเป็นแนวคิดของตนเองมากขึ้น และมิได้มุ่งความไพเราะงดงามอย่างเดียว แต่มุ่งถึงคุณค่าแก่ชีวิตด้วย
๓.  นักเขียนมีชื่อในระยะแรก ได้แก่ ศรีบูรพา ยาขอบ แม่อนงค์ ดอกไม้สด สดกูรมะโรหิต ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ฯลฯ
๔.  สถาปัตยกรรม มักนิยมสร้างตัวอาคารแบบตะวันตก แต่หลังคาทรงไทย เช่น
  • วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)
  • หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หอประชุมคุรุสภา
  • โรงละครแห่งชาติ
  • หอสมุดแห่งชาติ
  • ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ ฯลฯ
ส่วนอาคารแบบตะวันตก เช่น
  • อาคารถนนราชดำเนิน
  • พระราชวังไกลกังวล
  • ศาลาเฉลิมกรุง
  • สะพานพระพุทธยอดฟ้า
  • กระทรวงยุติธรรม
  • สะพานพระราม ๖
  • กรีฑาสถานแห่งชาติ
  • ไปรษณีย์กลาง
  • โรงแรมรัตนโกสินทร์
ประติมากรรม ที่สำคัญ ได้แก่
  • อนุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๘
  • อนุสาวรีย์พระนารายณ์
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
  • อนุสาวรีย์พ่อขุนรามฯ
  • อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
  • อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน ฯลฯ
  • พระพุทธรูปปางลีลา
  • พระพุทธรูป ภ.ป.ร.
จิตรกรรม ที่สำคัญได้แก่
  • ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงรอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • ภาพพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรผนังวัดสุวรรณดารามพระศรีอยุธยา

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๕๖ - ๖๔