วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทรงแกล้งดิน

การอบรมเบื้องต้นจากปฐมบรมอาจารย์ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในข้อที่ ๖ จาก ๙ ข้อ ซึ่งทรงอบรมเสมอเกี่ยวกับด้านศาสนา จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แม้เมื่อทรงพระเยาว์ โดยเสด็จตามพระบรมเชษฐาธิราชนิวัตประเทศไทย ไม่ทรงปล่อยให้วันเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มักตามเสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนทั้งในเมืองและชนบทไม่ว่างเว้น ทรงห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทำให้ทรงมีความรู้ติดตัวมาตลอดเวลา กระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์

นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร์ ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดการศึกษาและขาดความรู้ เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงวางแผนงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยข้อมูลที่เสด็จไปทรงพบมาอย่างรอบคอบ เพื่อทรงสร้างแบบอย่างที่ดี จากปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ เริ่มโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา โดยเฉพาะทางภาคอีสานที่มีแค่ความแห้งแล้ง ให้มีการทำฝนเทียมสร้างความชุ่มชื้น ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้น่าสงสาร ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัญหาเรื่องดิน ซึ่งทรงพบว่าประเทศไทยมีดินหลายชนิด เหมาะหรือไม่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดใดบ้าง เช่น ดินดาน ดินทราย ดินปนหิน ดินกรวด ดินแข็ง ดินลูกรัง ดินเปรี้ยว และดินเค็ม เป็นต้น ทรงศึกษาและแก้ไข บอกกล่าวแก่ประชาชนชาวไร่ชาวนาอย่างทั่วถึงและเข้าใจ ตัวอย่างเช่น การแก้ไขดินเปรี้ยว ทรงแก้ไขด้วยวิธี แกล้งดิน โดยตรัสว่า ".....การแกล้งดิน เป็นขบวนการที่เร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ที่แร่กำมะถันหรือสารประกอบไพไรท์ โดยการทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งดินจะสัมผัสอากาศกลายเป็นกรดอีกครั้ง กลายเป็นอ๊อกไซด์ของเหล็ก และซัลเฟต และเมื่อดินเปียก ซัลเฟตจะผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปสลับมาจนกลายเป็นดินเปรี้ยวหรือดินกรดจัด หรือไม่สามารถชื้นและเติบโตได้ จึงให้หาการแก้ไขความเป็นกรดของดินโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รับการสนองพระราชดำริในการเสาะหาที่ดินที่เหมาะที่สุด คือ การเซาะล้างดินควบคู่กับการใช้ปูนผนวกกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ลึกไม่เกิน ๑ เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แร่กำมะถันที่อยู่ใต้ดินชั้นล่างสัมผัสอากาศในดิน และปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา เมื่อกำมะถันมีน้อย ดินเปรี้ยวน้อยลง ทรงเรียกว่าระบบซักผ้า โดยใช้น้ำจืดชะล้างน้ำเปรี้ยวออกไป ความเปรี้ยวก็ลดน้อยลง....."


นอกจากปัญหาความแห้งแล้งและปัญหาดินแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริต่าง ๆ อีกมากมาย นับจากปี พุทธศักราช ๒๔๙๕ มาจนถึงบัดนี้ นับจำนวนโครงการในพระราชดำริได้กว่า ๓,๐๐๐ โครงการไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม และโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง และโครงการพัฒนาดอยตุง เป็นต้น จากดิน ป่า เขา ก็มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแยกคร่าว ๆ ได้ประมาณ ๕ โครงการ คือ
  1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
  2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
  3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
  4. โครงการระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่ม
  5. โครงการบรรเทาอุทกภัย
ซึ่งโครงการใหญ่ ๆ ทั้ง ๕ โครงการนี้ ยังสามารถแยกย่อยออกมาได้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน อาทิ การขุดคลอง หนอง และบึง การสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างฝายทดน้ำ เก็บกักน้ำ และป้องกันน้ำท่วม ด้วยการขุดอ่างเก็บน้ำแบบแก้มลิง ซึ่งช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำสมบูรณ์ รักษาต้นน้ำลำธาร ทำให้ประชาชนไม่ขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยให้ประชาชนทุกท้องถิ่นมีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง บรรเทาอุทกภัย ช่วยลดความรุนแรงของภัยจากอุทกภัยซ้ำซาก ช่วยระบายน้ำจากที่ลุ่มหรือดินพรุนสามารถนำที่ดินนั้นมาพัฒนาเพื่อการเกษตร และช่วยบรรเทาปัญหาการบุกรุกทำลายป่า

โครงการกังหันชัยพัฒนา ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ต้นทุนไม่สูง ปัจจุบันได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางทั้งการบำบัดน้ำเสียในคู คลอง สระ และในระบบอุตสาหกรรม เรียกอีกอย่างว่าเป็นโครงการน้ำดีไล่น้ำเสียก็ว่าได้

โครงการพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักคิดง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์มหาศาล คือ การใช้ธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว โครงการแก้มลิงซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และในกรุงเทพฯ หลายแห่ง การจราจรซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พระองค์ก็ไม่ทรงนิ่งนอนพระทัย ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนนรัชดาภิเษก หรืออีกชื่อว่า ถนนวงแหวนชั้นใน เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๒๔ และเสร็จสิ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ คือ เชื่อมโยงถนนและสะพานย่อย ๆ เข้าด้วยกัน ปรับปรุงเป็นทางใหม่จากถนนบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่ถนนราชดำเนิน จนถึงถนนพระรามที่ ๙ เพื่อสู่วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และถนนกรุงเทพ - ชลบุรีสายใหม่

โครงการถนนคร่อมคลองประปา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต น้ำในคลองประปาอาจจะไม่สะอาดพอ เพราะสภาพแวดล้อมจากชุมชนต่าง ๆ ที่เพิ่มขยายขึ้นควรจะปิดทำอุโมงค์ส่งน้ำเข้ามา ใช้พื้นที่ด้านบนเป็นถนนซึ่งสามารถขยายเส้นทางขนส่งเพิ่มขึ้น

โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ทรงดำริสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับรถบรรทุกที่วิ่งอยู่บนเส้นทางเชื่อมโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่างเขตอุตสาหกรรมพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และเขตอุตสาหกรรมปู่เจ้าสมิงพราย กับบริเวณท่าเรือคลองเตย ช่วยเบี่ยงเบนทางมิให้รถวิ่งเข้าไปในตัวเมือง และจะทำให้การขนส่งเชื่อมต่อระหว่างโรงงานกับโรงงานเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

โครงการคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เป็นทางลอยฟ้าบนถนนบรมราชชนนี นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงข่ายจตุรทิศตะวันตก - ตะวันออก ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรได้เป็นอย่างดี และในการนี้กรมทางหลวงแผ่นดินได้ขยายพื้นที่จราจรในแนวราบเป็น ๑๒ เส้นทางการจราจรอีกด้วย

โครงการสะพานพระราม ๘ เป็นพระราชดำริอีกโครงการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานผังสะพานให้กรุงเทพมหานครไปศึกษา โดยพระราชทานนามสะพานนี้ว่า สะพานพระราม ๘ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕

นอกจากถนนตามโครงการใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังพระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงเส้นทางจราจรอีกหลายจุด อาทิ ถนนวัดสุทธาวาส ทรงทอดพระเนตรเห็นการจราจรติดขัด จึงมีพระราชดำริสร้างถนนสายใหม่เลียบทางรถไฟสายใต้ จากปลายถนนอิสรภาพจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ทำให้การจราจรที่แออัดแถบนั้นเคลื่อนตัวได้สะดวกขึ้น

ทรงมีพระราชดำริขยายพื้นที่จราจรเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยกเลิกสัญญาณไฟจราจร และจัดระเบียบการจราจรเสียใหม่ เพิ่มช่องจราจรช่องทางลงสะพานพระปิ่นเกล้าให้เป็น ๔ ช่องจราจร และอีก ๑ ช่องทางซ้ายสุด สร้างเป็นทางกลับรถเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้า เพื่อลอดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกสู่สนามหลวงได้
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณถนนพระรามที่ ๙ เป็นการสร้างเส้นทางลัดเพื่อระบาย ๓ เส้นทาง คือ ถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนเทียมร่วมมิตร ถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนประชาอุทิศ และถนนเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ ๙ กับถนนเพชรบุรีตัดใหม่
นอกจากนี้ยังพระราชทานจักรยานยนต์ เพื่อให้ตำรวจใช้ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรอีกต่างหาก

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๕๗ - ๖๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น