วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทรงประสบอุบัติเหตุ

วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ เป็นวันที่ประชาชนไทยและประชาชนทั่วโลกระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวออกไปทั่วโลกว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงประสบอุบัติเหตุรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุก ใกล้ทะเลสาบเจนีวา ทรงเข้ารักษาพระองค์ ณ เมืองมอร์เซล


ในการนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่กับสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ได้เฝ้าถวายการพยาบาลโดยตลอด ต่อมา วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ พระองค์จึงทรงประกอบพิธีหมั้น สร้างความชื่นชมให้แก่ประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นข่าวมงคลครั้งแรกที่ประชาชนต่างตะโกนก้องในใจด้วยความปลื้มปิติ
หลังจากทรงศึกษาครบตามหลักสูตรแล้ว ในวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระคู่หมั้นเสด็จนิวัตพระนครโดยเรือพระที่นั่ง ซีแลนเดีย เมื่อมาถึงปากอ่าวไทย จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีอยุธยาเข้าสู่พระนคร ประชาชนต่างตั้งโต๊ะหมู่บูชาเต็มสองฝั่งถนนจากท่าราชวรดิษฐ์กระทั่งถึงพระบรมมหาราชวัง เพราะต่างตระหนักดีว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป พวกเขาจะได้มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิดพระยุคลบาท โดยไม่ต้องว้าเหว่ดังอดีตที่ผ่านมา
ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จฯ นิวัตพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาพิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์


ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
และในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็ตพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงยึดมั่นและปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการตลอดมา ตราบจนปัจจุบันนี้

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงรักษาพระสุขภาพตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ และในระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาเป็นพระองค์แรกคือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔


เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระองค์ทั้ง ๓ พระองค์ จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยโดยทรงประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราวในเวลาต่อมา เพื่อปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้เหมาะสมแก่การเป็นที่ประทับถาวรต่อไป ในขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส และพระธิดารวม ๓ พระองค์คือ วันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส พระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลยเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร" จากนั้นในวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ทรงมีพระประสูติกาลพระธิดาอีกพระองค์ พระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" และพระองค์สุดท้ายเป็นพระราชธิดาเช่นกัน ทรงพระนามว่า "เจ้าฟ้าจุฬาพรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี" ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐


ต่อมาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน ที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน และในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ หลังจากทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้ว ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กลับไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน

ในปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายและมีพระปรีชาสามารถสมควรที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระราชอิสริยศักดิ์ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชบิดาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณ์สว่างควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศ์อดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฏราชกุมาร

ในการนี้ได้มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ และพระราชลัญจกร ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ พระราชพิธีศรีสัจจปาน การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช  ๒๕๑๕ พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระองค์ต่อมาที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระอิสริยยศ และเฉลิมพระนามาภิไธยคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดลโสภาคย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระเจ้าหลานเธอรวม ๘ พระองค์คือ "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา" "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีรารีรัตน์" "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ" พระธิดาและพระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร


"พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์" "พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ" พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาพรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

"คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น" "คุณพุ่ม  เจนเซ่น" (เสียชีวิต) "คุณสิริกิติยา  เจนเซ่น" ธิดาและโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งต่อมาได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ปัจจุบันจึงมีอิสริยยศเป็น ทูลกระหม่อมหญิง

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๔๙ - ๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น