ลักษณะเศรษฐกิจแบบยังชีพ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ก่อนเกิดสัญญาเบาว์ริง) สภาพเศรษฐกิจของไทยมีลักษณะเป็น "เศรษฐกิจแบบยังชีพ" เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ภายในท้องถิ่น ในส่วนรายได้ของหลวงได้มาจากภาษีประเภทต่าง ๆ เป็นหลัก ได้แก่
จังกอบ คือ ภาษีที่เก็บจากสินค้าขาเข้า - ขาออก
อากร คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการประกอบอาชีพของราษฎรที่ไม่ใช่การค้า เช่น ทำนา ต้องเสียอากรนา
ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากราษฎร เมื่อขอให้ทางการจัดทำสิ่งใดได้ เช่น การออกโฉนดที่ดิน
ส่วย มีหลายประเภทที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งของ หรือเงินทดแทนค่าแรงงานที่ราษฎรจ่ายให้เพื่อไม่ต้องเข้ามาทำงานให้ทางการ
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีรายได้มาจาก
๑. กำไรจากการผูกขาดการค้าโดย "พระคลังสินค้า" เป็นหน่วยราชการที่ทำหน้าที่ค้าขายกับต่างประเทศ (สังกัดกรมคลังหรือกรมท่า)
๒. การค้าเรือสำเภาหลวง โดยพระคลังทำหน้าที่แต่งเรือสำเภาหลวงนำสินค้าไปขายยังต่างแดน เช่น จีน ชวา มลายู
การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากรและรายได้เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๓
๑. การประมูลผูกขาดการเก็บภาษีอากร เรียกว่า "ระบบเจ้าภาษีนายอากร"
๒. เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นเงินที่ชาวจีนต้องเสียให้รัฐแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน
๓. เงินค่าราชการ เป็นเงินที่ไพร่หรือราษฎรชายชาวไทยต้องให้รัฐแทนการเข้าเวรรับราชการ
เศรษฐกิจไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก
สมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทำให้การค้ากับต่างประเทศมีความคล่องตัว และมีเสรีทางการค้ามากขึ้น
สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีและการบริหารด้านภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พระองค์ทรงปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการคลังให้มีระบบที่ชัดเจนดังนี้
- ยกเลิกระบบการเก็บภาษีอากรเดิม โดยการวางพิกัดอัตราเก็บภาษีเดียวกันทุกมณฑล และแต่งตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกมณฑล เพื่อดูแลการเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
- ทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อควบคุมรายรับรายข่ายของแผ่นดิน
- ทำสนธิสัญญาเพราะราชไมตรีว่าด้วยการค้าขาย และพิกัดอัตราภาษีกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
- ประกาศเปลี่ยนการใช้มาตรฐานเงินมาเป็นมาตรฐานทองคำ
- พิมพ์ธนบัตรใช้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕
- การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพ.ศ. ๒๔๑๖
- จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ คือ แบงก์สยามกัมมาจล ปัจจุบันคือธนาคารไทยพาณิชย์
- การจัดตั้งธนาคารออมสิน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์
- การจัดตั้งกรมอากาศยาน สนามบินดอนเมือง
- การขยายเส้นทางรถไฟ มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น ทั้งสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออก และสายตะวันออกเฉียงเหนือ
- การส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งสถานีทดลองพันธุ์ข้าว จัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก
- การจัดการด้านการชลประทาน เช่น สร้างเขื่อนพระรามหก จังหวัดอยุธยา เป็นเขื่อนแรกแห่งประเทศไทย
- เกิดอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย
- เกิดภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๔๖๗
- รัฐบาลยกเลิกหวย ก.ข. และการพนันบ่อนเบี้ย ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากเงินค่าอากรปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก
รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) รัฐบาลต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ฐานะการคลังของประเทศขาดความมั่นคง มีรายจ่ายสูงมากกว่ารายรับ เกิดจากสาเหตุดังนี้คือ
- ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่สะสมมาตั้งแต่ในรัชกาลก่อน
- ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) ไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
- ตัดทอนรายจ่ายของประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักและค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ตัดทอนรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรม ลดเงินเดือนข้าราชการ และปรับดุลข้าราชการออกไปจำนวนหนึ่ง
- การเพิ่มอัตราภาษีศุลากากร และเก็บเงินค่าธรรมเนียมคนเข้าเมือง
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๗ มีนโยบายพัฒนาประเทศดังนี้
- นโยบายส่งเสริมลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ภายใต้คำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ"
- ด้านพาณิชยกรรม รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้คนไทยประกอบอาชีพค้าขาย
- ด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลจะลงทุนดำเนินการผลิตในอุตสาหกรรมที่เอกชนไม่มีทุน หรือขาดความชำนาญ
ภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ แล้วได้นำเอาความคิดเกี่ยวกับการวางแผนเศรษฐกิจมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙ มีระยะเวลา ๖ ปี จนมาถึงปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐
ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔ ขาดดุลการค้ามากขึ้น
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๘ การขึ้นราคาน้ำมันเป็นผลให้สินค้ามีราคาแพง
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๗ ดุลการชำระเงินขาดดุลและขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้รัฐบาลต้องประกาศ "ลดค่าเงินบาท"
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๔ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐ เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๓ เกิดปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศตกต่ำและปัญหาการขาดความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท
- ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมารัฐบาลต้องดำเนินนโยบายอย่างประหยัด เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินและการคลัง และมีมาตราการใหม่ ๆ ออกมาใช้
ที่มา : กฤษณา วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๔๗ -๔๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น