วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์

การตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
หลังจากที่ปราบกบฏพระยาสรรค์ได้สำเร็จ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา (นับเป็นวันเริ่มต้นแห่งราชวงศ์จักรี ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ ๖ เมษายน ของทุกปีเป็นวันจักรี เพื่อระลึกถึงวาระสำคัญนี้) มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์มีดำรัสว่าพระราชวังเดิม (กรุงธนบุรี) มีวัดขนาบทั้งสองข้าง (คือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาด) ไม่อาจขยายให้กว้างขวางออกไปได้อีก ไม่เหมาะที่จะเป็นราชธานีที่ถาวรสืบไป แล้วโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่บ้านพระยาราชาเศรษฐี และบ้านชาวจีนตำบลบางกอก อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา และให้พระยาราชาเศรษฐีกับชาวจีนเหล่านั้น ย้ายไปตั้งบ้านเรือที่บริเวณสวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง (สำเพ็ง)

เหตุผลในการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีไปฝั่งตะวันออก
๑.  พระราชวังสมัยกรุงธนบุรีคับแคบ ไม่สามารถขยายให้กว้างได้ เพราะมีวัดขนาบอยู่ทั้ง ๒ ด้าน คือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดโมฬีโลกยราม (วัดท้ายตลาด) จึงยากแก่การขยายพระราชวัง
๒.  การย้ายมาตั้งทางฝั่งตะวันออกฝั่งเดียว ดีกว่าเพราะเป็นชัยภูมิที่ดีต่อการป้องกันข้าศึก เนื่องจากธนบุรีเป็นเมืองอกแตก คือ มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ข้าศึกลำเลียงทหารเข้าตีเมืองได้ง่าย และถ้ามีศึกสงครามจะทำให้ทั้งสองฝั่งติดต่อกันได้ยาก
๓.  ภูมิประเทศทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งกรุงเทพ) สามารถขยายตัวเมืองให้กว้าง เนื่องจากเป็นท้องทุ่งโล่ง นอกจากหมู่บ้านชาวจีนแล้วก็มีประชาชนอยู่เบาบาง ในระยะยาวจะสามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อย ๆ

ลักษณะของราชธานี


กรุงเทพมหานครสร้างขึ้นโดยเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน
๑.  พระบรมมหาราชวัง ซึ่งประกอบด้วย วังหลวง วังหน้า วัดในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ทุ่งพระเมรุ และสถานที่สำคัญอื่น ๆ มีอาณาบริเวณตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยาจนถึงคูเมืองเดิมสมัยธนบุรี (ที่เรียกกันว่า คลองหลอดในปัจจุบัน)
๒.  ที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง เริ่มตั้งแต่คูเมืองเดิมไปทางตะวันออกจนจดคูเมืองใหม่ (คลองรอบกรุง) ประกอบด้วยคลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่างตามแนวคลองรอบกรุงมีการสร้างกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปราการโดยรอบมีการขุดคลองหลอด ๑ คลองหลอด ๒ เชื่อมระหว่างคูเมืองเก่ากับคูเมืองใหม่ นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้างถนน สะพาน และสถานที่อื่น ๆ ที่จำเป็นอีกด้วย ราษฎรที่อาศัยในส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย
๓.  ที่อยู่อาศัยนอกกำแพงเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้คนจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองรอบกรุงกระจายกันออกไปและมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือนประเภทช่างต่าง ๆ เช่น บ้านบาตร บ้านพานถม บ้านหม้อ บ้านดอกไม้ไฟ

การสร้างพระบรมมหาราชวัง
พระราชวังที่สร้างใหม่นั้น ได้กระทำกันเป็นการใหญ่โตมโหฬารมาก มีการระดมเกณฑ์ไพร่หลวงให้ทำอิฐขึ้นใหม่บ้างและรื้อเอาอิฐกำแพงกรุงเก่าที่อยุธยาลงมาบ้าง เพื่อสร้างกำแพงพระนคร และพระราชวังใหม่ เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คน เข้ามาขุดคูพระนคร เกณฑ์ชาวเวียงจันทน์ ๕,๐๐๐ คน กับข้าราชการหัวเมืองเข้ามาช่วยกันระดมขุดรากก่อกำแพงพระนคร และสร้างป้อมต่าง ๆ โดยรอบพระนคร


การสร้างพระนครนี้ใช้เวลา ๓ ปี จึงสำเร็จหลังจากนั้นได้จัดพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองเป็นการเอิกเกริกมโหฬารรวม ๓ วัน และพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" เรียกย่อ ๆ ว่า "กรุงรัตนโกสินทร์" ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเปลี่ยน "บวรรัตน์โกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์"


สำหรับการสร้างพระบรมมหาราชวังนั้น นอกจากจะให้สร้างปราสาทราชมนเทียรแล้ว ยังโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๘ - ๑๐

2 ความคิดเห็น: