วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
          ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส
          เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อในสมัยรัตนโกสินทร์
          ๑.  อันโตนิโอ เดอ วีเสนท์ (องตนวีเสน) เป็นคนแรกที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๑
          ๒.  คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยไม่ได้นำปืนคาบศิลามาให้ไทย ๔๐๐ กระบอก
          ๓.  ต่อมารัชกาลที่ ๒ พระราชทานตำแหน่งขุนนางไทยให้แก่ คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นหลวงอภัยพานิช


          ความสัมพันธ์กับอังกฤษ
          การติดต่อในสมัยรัชกาลที่ ๑ อังกฤษได้ส่งฟรานซิสไลท์ หรือกัปตันไลท์ พร้อมนำดาบประดับพลอยกับปืนด้ามเงิน เข้ามาถวายรัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชกปิตัน
          สมัยรัชกาลที่ ๒ มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียได้จัดส่ง จอห์น ครอเฟิต (การะฟัด) พร้อมบรรณาการมาถวายเพื่อเจรจาการค้า ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีปัญหาเรื่องภาษา ครอเฟิตดูหมิ่นไทย ไทยไม่ยอมตกลงปัญหาไทรบุรี และไทยไม่พอใจที่พวกอังกฤษเข้าสำรวจปากน้ำเพื่อทำแผนที่
          ต่อมาอังกฤษส่งผู้สำเร็จราชการประจำสิงคโปร์ คือ โรเบิร์ติ ฮันเตอร์ (หันแตร) เข้ามาตั้งร้านค้าขึ้นในประเทศไทย ต่อมาได้เป็นหลวงอาวุธวิเศษ
          สมัยรัชกาลที่ ๓ ลอร์ด แอมเฮิร์สต์ ได้ส่งร้อยเอก เฮนรี่ เบอร์นี (บรานี) ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดียเข้ามาขอทำสัญญาการค้ากับไทยได้สำเร็จมีชื่อว่า "สนธิสัญญาเบอร์นี" ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ คือ
  • ไทยกับอังกฤษมีไมตรีต่อกัน หากเกิดคดีความให้ตัดสินตามกฏหมายไทย
  • ทั้งสองฝ่ายต้องอำนวยความสะดวกในด้านการค้าต่อกัน
  • อังกฤษยอมรับว่า ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส เป็นของไทย
  • ห้ามนำฝิ่นมาขายในไทย ห้ามนำข้าวออกนอก
  • อาวุธและกระสุนดินดำ ต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น
  • อังกฤษเสียภาษีปากเรือ (ภาษีเบิกร่อง)
  • พ่อค้าอังกฤษขายสินค้าทั่วราชอาณาจักร
  • หากคนอังกฤษดูหมิ่นคนไทย อาจถูกขับไล่ออกนอกประเทศได้ทันที
          ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ลอร์ด ปาลเมอร์สตัน ได้ส่ง เชอร์ เจมส์ บรูค มาขอแก้ไขสัญญาใหม่ ดังรายการต่อไปนี้
  • ลดภาษีปากเรือ
  • นำฝิ่นมาขายได้
  • นำข้าวออกได้
  • ตั้งสถานกงสุลในไทย
     ทั้งนี้เพื่อต้องการได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนไทย แต่ยังไม่สำเร็จก็สิ้นสุด รัชกาลที่ ๓

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓
๑.  กัปตันเฮล เป็นอเมริกันคนแรกที่เข้ามา พร้อมทั้งได้นำปืนคาบศิลามาถวายรัชกาลที่ ๓ จำนวน ๕๐๐ กระบอก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงภักดีราชกปิตัน จึงได้รับพระราชทานสิ่งของ และงดเว้นการเก็บภาษีจังกอบ
๒.  ต่อมาประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจคสัน ได้ส่ง เอ็ดมันท์ โรเบิร์ต (เอมินราบัด) เข้ามาทำสัญญาการค้าแบบที่ทำกับอังกฤษ
๓.  ภายหลังได้ส่ง โจเซฟ บัลเลสเตียร์ มาขอทบทวนสัญญาใหม่แต่ไม่สำเร็จ


ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสมีบทบาทต่อไทยมากในสมัยรัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรุกรานไทยเสียมากกว่าเป็นมิตรไมตรี แต่ไทยอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จึงจำต้องใช้วิธีการผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา จนไทยต้องยอมเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสถึง ๕ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑  (พ.ศ. ๒๔๑๐) เสียเขมรส่วนนอก คือ ประเทศเขมรส่วนใหญ่นั่นเอง
ครั้งที่ ๒  (พ.ศ. ๒๔๓๑) เสียแคว้นสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหก
ครั้งที่ ๓  (พ.ศ. ๒๔๓๖) เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ดินแดนลาวส่วนใหญ่ และก่อนการเสียดินแดนครั้งนี้ได้เกิดการรบต่อสู้ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. ๑๑๒" (พ.ศ. ๒๔๓๖)
ครั้งที่ ๔  (พ.ศ. ๒๔๔๖) เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขงบริเวณหลวงพระบาง และจำปาศักดิ์เพื่อแลกกับจันทบุรี
ครั้งที่ ๕  (พ.ศ. ๒๔๔๙) เสียมณฑลบูรพาหรือเขมรส่วนใน อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับเมืองตราด

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๔ - ๗๖

ความสัมพันธ์กับจีน มอญ และลังกา

ความสัมพันธ์กับจีน มอญ และลังกา
๑.  ความสัมพันธ์กับจีน
  • ในสมยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยได้ส่งทูตบรรณาการไปจีน ๕๒ ครั้ง ภายในเวลา ๖๙ ปี (รัชกาลที่ ๑ จำนวน ๒๒ ครั้ง รัชกาลที่ ๒ จำนวน ๑๓ ครั้ง และรัชกาลที่ ๓ จำนวน ๑๗ ครั้ง)
  • พระมหากษัตริย์ไทยโปรดให้บรรดาทูตานุทูต และผู้แทนพระองค์ไปดำเนินธุรกิจค้าขายกับจีน และจ้างพ่อค้าจีนเป็นตัวแทนค้าขายของพระองค์เพื่อไปดำเนินการค้าขายกับจีนอีกด้วย
  • ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยเพิ่มมากขึ้น ได้รับความยุติธรรมในการค้าขายกับไทยมากกว่าชาติอื่น ๆ และซื้อขายได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ยุ่งยาก ขณะเดียวกันพ่อค้าไทยก็ได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขายกับจีนด้วย
  • การค้าระหว่างไทย - จีน ในรูปแบบบรรณาการ ยุติลงภายหลังสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะผลกระทบจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตก 


๒.  ความสัมพันธ์กับมอญ
          ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๑๐ มอญตกเป็นของพม่าทั้งหมด และมีพวกมอญบางกลุ่มหนีพม่ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ทำให้ไทยได้มอญเป็นกำลังสำคัญในกองทัพสำหรับสู้รบกับพม่า เช่น ในสมัยรััชกาลที่ ๓ ได้เจ้าพระยามหาโยธา ชาวมอญเป็นผู้คุมกองทัพมอญเพื่อไปสู้รบกับพม่า

๓.  ความสัมพันธ์กับลังกา
          ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมาแต่สมัยสุโขทัย
          ๓.๑  สมัยรัชกาลที่ ๒ พระภิกษุลังกาชื่อ พระสาสนวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกับต้นโพธิ์ลังกาเข้ามาถวาย
          ๓.๒  สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งตั้งสมณฑูต ๙ รูป มีพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้าออกไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ซึ่งเป็นสมณทูตไทยคณะแรกที่ไปเจริญสมณไมตรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          ๓.๓  สมณทูตไทยกลับถึงเมืองไทยในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ พร้อมทั้งได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มา ๖ ต้น ซึ่งนับเป็นโพธิ์พันธุ์ลังกาที่เข้ามาครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์ และได้นำมาปลูกไว้ตามที่ต่าง ๆ ดังนี้
  • ปลูกที่กลันตัน                  ๑     ต้น
  • ปลูกที่นครศรีธรรมราช       ๒     ต้น
  • ปลูกที่วัดสุทัศน์ฯ              ๑     ต้น
  • ปลูกที่วัดมหาธาตุฯ           ๑     ต้น
  • ปลูกที่วัดสะเกศฯ              ๑     ต้น


          ๓.๔  สมัยรัชกาลที่ ๓ พระสงฆ์ไทยเดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย ๒ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ กับ พ.ศ. ๒๓๘๗
          ๓.๕  สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ส่งสมณทูตไปลังกา ๑ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ ประกอบด้วยพระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระอโนมศิริมุนี (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี)) เป็นหัวหน้า และคฤหัสต์อีก ๖ นายเพื่อนำคัมภีร์ หนังสือซึ่งสมณทูตครั้งก่อนออกไปยืมเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ กลับคืนไป และหวังที่จะบวชธรรมยุติกนิกายให้แก่ชาวลังกาผู้เลื่อมใสศรัทธาธรรมยุติกนิกายด้วย

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๓ - ๗๔

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑
ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๑
๑.  สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับรัชสมัยของราชกาลที่ ๖
๒.  คู่สงครามสำคัญ คือ
     ๒.๑  ฝ่ายสัมพันธมิตร  (Triple Allies)  ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
     ๒.๒  ฝ่ายพันธมิตรไตรภาคี  (Triple Entente)  หรือ มหาอำนาจกลาง  (Central Powers)  ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ตุรกี
๓.  ช่วงเกิดสงครามระยะแรกไทยดำรงความเป็นกลาง จนถึง ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะรัชกาลที่ ๖ ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ไทยจะได้เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่เคยทำไว้กับนานาประเทศ


๔.  สาเหตุที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางมี ๓ ประการ คือ
     ๔.๑  เพราะรัชกาลที่ ๖ เห็นว่าสัมพันธมิตรจะต้องชนะแน่นอน และจะได้ขอแก้ไขสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔
     ๔.๒  ทรงเห็นว่าการรักษาความเป็นกลางมีผลเสียมากกว่าผลดี
     ๔.๓  มีพระราชประสงค์จะรักษาความเป็นธรรมระหว่างประเทศไว้
๕.  ภายหลังประกาศสงครามแล้ว ไทยก็ได้จับชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ส่งไปให้อังกฤษที่อินเดีย กับยึดเรือเดินทะเลเยอรมันที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ๔๐ ลำ จากนั้นก็จัดส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบกับสัมพันธมิตรตามคำขอของฝรั่งเศสจำนวน ๑,๒๕๐ คน (ประกอบด้วยกองบินทหารบก ๔๐๐ คนเศษ และทหารรถยนตร์ประมาณ ๘๕๐ คน) ภายใต้บังคับบัญชาของพันเอกพระเฉลิมอากาศ  (สุณี  สุวรรณประทีป) ออกเดินทางจากประเทศไทย ๒๐ มิถุนายน ๒๔๖๑ ถึงเมืองท่ามาร์แชล ของฝรั่งเศส ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทหารไทยได้ปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็งจนได้รับตรา "ครัวช์เดอแกร์" จากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อเป็นเกียรติแก่กองทัพไทย
๖.  การเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ไทยได้สร้าง "อนุสาวรีย์ทหารอาสา" และ "วงเวียน ๒๒ กรกฎา" ไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกไว้ด้วย
๗.  ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ๗.๑  ทำให้ได้รับการยกย่องว่ามีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับอารยประเทศ
     ๗.๒  เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป
๘.  ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ
๙.  สามารถยกเลิกสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (ผู้แพ้สงคราม) ในฐานะประเทศผู้ชนะ



๑๐.  สามารถขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ในฐานะประเทศผู้ร่วมสงคราม และประเทศสหรัฐอเมริกายอมแก้ไขยกเลิกให้แก่ไทยเป็นประเทศแรก
๑๑.  ได้รับผลประโยชน์จากการยึดทรัพย์สินและห้างร้านของเชลย ตลอดจนได้เงินค่าปฏิมากรรมสงคราม ๒ ล้านบาท
๑๒.  สามารถนำประสบการณ์ในสงครามมาปรับปรุงกิจการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น

ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๖ - ๗๗

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์

ความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย
มีอยู่ใน ๓ รูปแบบ คือ
๑.  เป็นมิตรไมตรีกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าขาย เช่น จีน มลายู ชวา อินเดีย เป็นต้น
๒.  เป็นคู่สงครามกัน ได้แก่
     ๒.๑  พม่า มีการทำสงครามกันมากที่สุดถึง ๑๐ ครั้ง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๑ รวม ๗ ครั้ง ครั้งใหญ่ที่สุด คือ ศึกเก้าทัพ ตรงกับสมัยของพระเจ้าปะดุงแห่งพม่าไทยเป็นฝ่ายชนะและได้เกิดวีรศตรี ๒ ท่านคือ ท้าวเทพกระษัตรี (คุณหญิงจันทน์) กับท้าวศรีสุนทร (นางมุก) จากนั้นไทยกับพม่าได้มีการทำสงครามกันอีกในสมัยรัชกาลที่ ๒ - รัชกาลที่ ๓ และสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะดม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งประเทศ
     ๒.๒  ญวน นับว่าเป็นคู่แข่งขยายอิทธิพลกับไทยเข้าไปยังเขมรและลาว จึงทำให้เกิดกระทบกระทั่งกับไทยถึงขั้นทำสงครามต่อกัน และส่วนใหญ่สาเหตุการรบระหว่างไทยกับญวนมักมาจากเขมร
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ไทยยกกองทัพไปตีญวน ๒ ครั้ง เพื่อช่วยองเชียงสือกษัตริย์ญวน
  • สมัยรัชกาลที่ ๓ ญวนได้ยกทัพมาตีหัวเมืองลาวของไทยและในสมัยนี้ไทยกับญวนรบกันนานถึง ๑๔ ปี จนกระทั่งญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งในที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ และถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ญวนก็ตกเป็นของฝรั่งเศสทั้งประเทศ


๓.  การดำเนินนโยบายต่อประเทศราช ส่วนใหญ่ไทยเราจะเปิดโอกาสให้ประเทศราชจัดการปกครองดูแลกันเองอย่างอิสระ แต่ต้องส่งบรรณาการมาถวายและส่งกำลังมาช่วยราชการเมื่อพระมหากษัตริย์ไทยต้องการ เมื่อประเทศราชแข็งแรงก็จะมีการปราบปราม และหากมีความยุ่งยากภายในจะยกกองทัพไปช่วยจัดการให้เกิดความสงบ
     ๓.๑  เขมร เป็นชาติที่มีปัญหายุ่งยากภายในตลอดมาและไทยได้ช่วยเหลือจัดการให้เกิดความสงบมาโดยตลอด
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงอุปการะแก่นักองเองอย่างราชบุตรบุญธรรมแล้วอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ไปปกครองเขมร
  • สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระอุทัยราชา (นักองจันทน์) กับพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) ได้สำเร็จ
     ๓.๒  ลาว มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาตลอดในฐานะ "บ้านพี่เมืองน้อง" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๒ เพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกัน
               สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์หันไปฝักใฝ่ญวนแล้วคิดกบฏต่อไทย ยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึงนครราชสีมา ผลที่สุดไทยก็ปราบได้สำเร็จ โดยแม่ทัพสำคัญคือ เจ้าพระยาราชสุภาวดี (ต่อมาเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) และได้เกิดวีรสตรีสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ลาวก็จกเป็นของฝรั่งเศส
     ๓.๓  หัวเมืองมลายู
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ไทยยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองมลายูที่ตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองไทรบุรีหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะหมาก (ปีนัง)
  • สมัยรัชกาลที่ ๒ อังกฤษจึงส่งทูตมาขอเจรจากับไทยและในที่สุดไทยก็จัดการปกครองมลายูได้โดยเรียบร้อย และถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ หัวเมืองมลายูอันได้แก่ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ตกเป็นของอังกฤษ


     ๓.๔  ล้านนา
  • สมัยรัชกาลที่ ๑ มีนโยบายการปกครองประเทศราชด้วยการผูกใจให้จงรักภักดี จึงยกย่องสถาปนาพระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่มีเกียรติยศเสมอเจ้านครเวียงจันทน์
  • สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ยุบเลิกประเทศราชแล้วตั้งล้านนาเป็นมณฑลพายัพ ต่อมาภายหลังเมื่อยุบเลิกมณฑล ก็ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา : กฤษณา  วิเชียรเพชร : "ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์" หน้า ๗๒ - ๗๓

โครงการส่วนพระองค์

ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตรสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อพระราชประสงค์ที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งโครงการใหญ่และโครงการย่อย ดังนี้

โครงการใหญ่ทรงแบ่งออกเป็น ๒ โครงการคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นการทดลองวิจัยเพื่อหาองค์ความสำหรับนำมาพัฒนาด้านการเกษตร และโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการทดลองแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อจำหน่ายและนำกำไรมาขยายงานเพิ่ม ซึ่งโครงการนี้ได้ขยายเป็นโครงการย่อยได้ถึง ๒๐ สาขาโครงการ อันได้แก่


โครงการนมสวนจิตรลดา ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา โรงน้ำดื่ม โรงนมยูเอชทีสวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงบดแกลบ โรงงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โรงงานน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรซ์ โรงงานน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง โรงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง โรงหล่อเทียนหลวง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงกระถางผักตบชวา โรงพืชสมุนไพร โรงเพาะเห็ด โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทอง ร้านหัตถกรรมศิลป์

โครงการหลวงมีครอบคลุมอยู่ ๕ จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนภาคเหนือ ในปี ๒๕๑๒ ทอดพระเนตรเห็นชาวสวนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ตัดไม้ทำลายป่า และแถบนั้นยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือ จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ มีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการหลวง ครั้นถึงปี ๒๕๓๕ ยกระดับขึ้นเป็น มูลนิธิโครงการหลวง ประธานมูลนิธิยังคงเป็นผู้อำนวยการโครงการหลวงเดิม

การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเมืองหนาวตั้งแต่ผักไปจนถึงผลไม้กว่า ๕๐ ชนิด ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งเน้นสนองความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะครอบคลุม ๕ จังหวัดภาคเหนือแล้ว ยังมีสถานีวิจัยอีก ๖ แห่ง มีศูนย์โครงการหลวง ๓๔ แห่ง และมีหมู่บ้านพัฒนาอีกหมู่บ้าน


คนไทยชาวภูเขาทางภาคเหนือได้ชีวิตใหม่จากมูลนิธิโครงการหลวง เลิกไร่ฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า หันมาทำไร่ผักผลไม้แทน ดอกไม้เมืองหนาวและป่าอนุรักษ์ มีผลผลิตจากโครงการหลวงภายใต้ทะเบียนการค้าดอยคำ ดังนั้น ชาวไทยภูเขาทุกคนที่ได้ชีวิตใหม่จึงไม่ลืมคำขวัญโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ว่า

"ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่า ประชาชนชาวท้องถิ่นทั้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่พระองค์เสด็จไปทรงดูมาส่วนใหญ่ขาดไอโอดีนที่เป็นธาตุสำคัญต่อร่างกาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกลือผสมไอโอดีนผ่านกระทรวงสาธารณสุข นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่ออนามัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่า เกลือพระราชทาน

เหตุนี้ โครงการแพทย์และสาธารณสุขจึงเกิดขึ้น

ในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในเมืองและชนบทห่างไกล ด้วยการแก้ไจปัญหาเฉพาะหน้า เริ่มด้วยทรงบริจาคทุนทรัพย์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อกิจการด้านการผลิตวัคซีน และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉายภาพส่วนพระองค์ หารายได้สร้างตึกในสภากาชาดไทยและอื่น ๆ

ปี ๒๔๙๕ ประเทศไทยเกิดโรคระบาดใหญ่เกี่ยวกับโรคไขสันหลังอักเสบ ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะพิการ แขนขาไร้กำลัง กล้ามเนื้อและระบบหายใจเป็นอัมพาต ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานทรัพย์ให้กระทรวงสาธารณสุข ซื้อปอดเหล็กให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรักษาผู้ป่วย ๓ เครื่อง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อส. ประกาศเชิญบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อจัดตั้งมูลนิธิโปลิโอสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและซื้อเครื่องมือในการรักษาโรค

ต่อมาเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ ทรงจัดหาวัคซีนป้องกันและบำบัดโรค ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กองวิทยาศาสตร์สภากาชาดไทย จัดซื้อเครื่องมือในการผลิตวัคซีน ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถผลิตวัคซีนตัวอื่น ๆ ได้ด้วย จากนั้น ทรงพระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยการสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือที่มีคุณภาพ

สถาบันราชประชาสมาสัย ถูกก่อตั้งขึ้นในชื่อนี้ โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถานพยาบาลพระประแดง เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ร่วมดำเนินการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจะจัดตัวผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อแยกอยู่ออกไปเป็นสัดส่วน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขจะได้มีสถาบันวิจัยโรค และฝึกบุคลากรสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขจึงกราบบังคมให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ทุนอานันทมหิดล ให้ดำเนินการ

เด็กที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อทรงพระคำนึงถึงราษฎรที่อยู่ตามริมน้ำคูคลอง เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ไม่สามารถที่จะเดินทางไปรักษาที่สถานพยาบาลได้ เนื่องจากหนทางยาวไกล เรือเวชพาหน์ โครงการหลวงพระราชทานจึงเกิดขึ้น โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีแพทย์ไปตรวจเยี่ยมตามถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ เมื่องานขยาย แพทย์ไม่พอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ออกไปตรวจรักษาราษฎรต่อตั้งแต่เรื่องฟันไปจนถึงอาการไข้อื่น ๆ เรียกหน่วยแพทย์นี้ว่า หน่วยแพทย์พระราชทาน


ต่อมาได้เกิดหน่วยแพทย์ขึ้นมากมาย อาทิ โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และภูมิแพ้พระราชทานโครงการอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่ง จัดตั้งบริษัทบ้านบึงเวชกิจจำกัด และคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนา คลินิกนี้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ตรวจรักษาและบริการทางการแพทย์ ตลอดจนฟื้นฟูสุขภาพประชาชนทั่วไป โดยไม่มุ่งหวังกำไร

แปลงสาธิตพืชสมุนไพร ซึ่งทรงจัดสร้างขึ้นในสวนจิตรลดาเมื่อปี ๒๕๒๙ เพื่อการศึกษาโดยทรงจัดเป็นหมวดหมู่ หาง่าย ดูง่าย ศึกษาง่าย มาจนถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีโครงการหนึ่งที่โด่งดังมากคือ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๑๐๓ - ๑๐๗

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทรงดูแลผู้ปฏิบัติการความมั่นคงของชาติอย่างห่วงใย

งานทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระราชหฤทัยไม่แพ้งานด้านอื่น ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นจอมทัพไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในและภายนอกของราชอาณาจักร ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนยังหน่วยปฏิบัติการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยามปกติ หรือเป็นยามที่มีการปฏิบัติการณ์ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม


ทรงพระราชทานพระบรมราชนุเคราะห์แก่ ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งถูกนำไปรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่ผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสำหรับผู้บาดเจ็บเมื่อหายดีแล้วแต่ยังพิการอยู่ ก็จะจัดการฝึกอาชีพ โดยจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอย่างสมเกียรติ


ในยามปกติ พระองค์จะเสด็จไปทรงเยี่ยมทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ และตำรวจตระเวนชายแดนอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด แต่การฝึกยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีต่าง ๆ ของ ๓ เหล่าทัพและตำรวจตระเวนชายแดน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ และทรงประกอบพิธีเปิดค่ายทหารต่าง ๆ ทรงเยี่ยมสถานศึกษาของนักเรียนทหาร และพระราชาทานกระบี่แก่นักเรียนผู้สำเร็จการศึกษา พระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร และเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลับป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพอากาศ วิทยาลัยการทัพเรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหาร ตำรวจ และพระราชทานชื่อเรือรบ และที่สำคัญคือ พระราชทานคำแนะนำแก่กองทัพในการพัฒนาสร้างยุทโธปกรณ์ และพาหนะที่จำเป็นขึ้นใช้เอง

ที่สำคัญคือ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่หน่วยทหาร ๓ เหล่าทัพ ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า องค์พระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกับกองทัพด้วย พระราชทานเพลงธงชัยเฉลิมพล เพลงมาร์ชราชวัลลภ และเพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน เพื่อใช้ในการสวนสนาม


นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของลูกเสือและลูกเสือชาวบ้านอีกด้วยในด้านของกิจการลูกเสือชาวบ้านนั้น ทรงนำเอาหลักการของลูกเสือมาแนะนำการยุทธวิธีแก่ชาวบ้านในทุกระดับและอาชีพ ทรงพระราชทานเหรียญลูกเสือให้กับผู้บังคับบัญชาการลูกเสือ เพื่อรับเหรียญลูกเสือสดุดี ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานในตอนหนึ่งดังนี้


".....การลูกเสือเป็นปัจจัยส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญมั่นคงของบ้านเมือง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะได้มองเห็นว่าการฝึกหัดอบรมอย่างถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผนและวิธีการของลูกเสือ เป็นการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงส่งเสริมบุคคลไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ให้มีคุณสมบัติในตนเองสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง เช่น ให้มีความเข้มแข็ง อดทน ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความสุจริตซื่อตรง มีความตื่นตัว ประกอบด้วยเชาว์ไหวพริบ รู้จักใช้ความรู้ความคิดอย่างฉลาดและมีวินัยที่ดีประจำตัว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สามารถพึ่งตนเอง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมได้....."
 
ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๙๑ - ๙๓

ทุนภูมิพลพิทักษ์ไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกจิตสำนึกให้ชาวไทยเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติ คือ การพูดต้องออกเสียงให้ชัดเจน ไม่นำภาษาอื่นมาพูดปนกับภาษาไทย และการเขียนต้องให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเพราะการทำให้ภาษาาไทยวิบัติจะทำภาษาไทยเสื่อมสลายไปในที่สุด..... ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้ทุกหน่วยงานน้อมรับอย่างเคร่งครัด วันภาษาไทยแห่งชาติจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

วันภาษาไทยแห่งชาติ
นอกจากจะเน้นเรื่องการเขียนการอ่านให้ถูกอักขระโดยไม่ให้นำภาษาอื่นเข้ามาปะปนในการอ่านและเขียนแล้ว ยังให้ประชาชนรู้จักอนุรักษ์หนังสืออันมีค่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือมีคุณค่าพระราชทานในการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เช่น ประชุมโคลงสุภาษิตในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก พระราชหัตถ์เลขาทรงสั่งราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ กับเรื่องประกอบแบบเรียนดุริยางค์สากลตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ และมงคล ๑๐๘ ในรอยพระพุทธบาท เป็นต้น

การอนุรักษ์แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่น
การอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่พักอาศัยของประชาชนยังเป็นเรือนไม้แบบเก่า เช่น บ้านเรือนไทยโบราณ บ้านเรือนไทยพื้นบ้าน บ้านเรือนแพเดิม และบ้านเรือนไทยร่วมสมัย ซึ่งอัมพวายังได้ชื่อว่า เมืองสามน้ำ อีกด้วย

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งของสมุทรสงคราม ที่ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานทั่วไทยได้ศึกษากันอย่างภาคภูมิใจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเลือกตั้งอัญเชิญเป็นประธานของมูลนิธิตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราขหฤทัยเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กยากจนและไร้โอกาส ทรงถือว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาความคิดสติ ปัญญา ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นเป็นแหล่งศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และบุตรหลานของข้าราชบริพาร ต่อมาทรงพระราชทานราชทรัพย์ให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๕ จังหวัด สร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ต่อมาได้มีผู้โดยเสด็จ พระราชกุศลสร้างโรงเรียนสำหรับชาวเขาขึ้นชื่อว่า โรงเรียนสำหรับชาวเขา ต่อมาสร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นที่จังหวัดนครพนม สร้างโรงเรียนในวัดชื่อว่าโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาแก่เด็กหูหนวกตาบอด ปัญญาอ่อน โดยทรงพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นและพระราชทานเลี้ยงอาหารประจำปี หรือเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม เพื่อเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชประชาสมาชัย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้พัฒนาขึ้น และสามารถรับเด็กนักเรียนเข้าเรียนร่วมกับเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพได้ด้วย


ทรงฟื้นฟูทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นใหม่ เพื่อมอบทุนแก่นักเรียนที่จบการศึกษาได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศในชื่อว่า ทุนภูมิพล สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นเกียรติแก่บัณฑิตเหล่านั้น นับว่าเป็นพระราชภาระค่อนข้างหนัก เพราะแต่ละปีมีบัญฑิตจบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระแทน

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะให้เด็กยากจน และเด็กที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ ได้รับการถ่ายทอดสดทางวิชาการในระดับมาตรฐานเดียวกันกรมสมัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงรับข้อเสนอของเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษจัดทำโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลที่ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเลือกให้โรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดการศึกษาสายสามัญ ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมสู่โรงเรียนทั่วไป ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

"การศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประเทศชาติสืบต่อไป"

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดการศึกษาในโรงเรียนไกลกังวลให้ครบวงจร คือ ให้จัดการศึกษาตั้งแต่วัยอนุบาลจนจบการศึกษาระดับปริญญา ให้อยู่ในสถานศึกษาเดียวกันมีการเปิดหลักสูตรวิชาชีพระดับ ปวช. ปวส. และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดตั้งหอสมุดราชมังคลาภิเษกเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าจองนักเรียนนักศึกษาและประชาชน นอกจากนี้ ยังเปิดวิทยบริการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือปรับปรุงมาตรฐานและสนับสนุนด้านการกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรีไทยและสากล ตลอดจนการฝึกวิชาทหาร และโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเข้าช่วยพัฒนากิจการถึง ๑๙ โรงเรียน


โรงเรียนไกลกังวล เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ นักเรียนในสมัยแรก คือ บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในวังไกลกังวลและบุตรหลานของชาวบ้านท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบทอดพระราชดำริของ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงรับโรงเรียนไกลกังวลเป็นโรงเรียนในพระองค์ และทรงทำนุบำรุงให้เจริญพัฒนาขึ้น จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔

สำหรับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ขณะนี้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ขยายออกไปสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญในพระอารามทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่มิใช่นักเรียนก็สามารถเปิดโทรทัศน์ชมรายการต่าง ๆ เพื่อศึกษาด้วยตนเองได้


การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวน ๖ ชุดแก่มหาวิทยาลัยเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามนำไปแปลสอนนักเรียน นักศึกษา ในปี ๒๕๔๑ และปีเดียวกันนี้ สถาบันแห่งชาติเนมิ แผนกวิจัยและพัฒนาประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ลงนามในหนังสือทำความตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการสอนภาษาต่างประเทศผ่านดาวเทียมด้วย เช่น ภาษาจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น

ต่อมาได้มีประเทศเพื่อนบ้าน ขอพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเผยแพร่การเรียนแก่นักเรียน นักศึกษาของตนอีก เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอนภาษาของตนผ่านโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมพร้อมวิชาอื่น ๆ ให้อีกด้วย

ปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ศึกษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีศูนย์การเรียนรู้ ๔ แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ในชิคาโก วัดป่าธรรมชาติ นครลอสแองเจลิส วัดไทยธรรมประทีป ฝรั่งเศสและวัดศรีนคริทราวราราม

ส่วนด้านภายในประเทศ ทรงจัดโครงการศึกษาทัศน์ นำนักเรียน นักศึกษา และครู จากโรงเรียนไกลกังวลออกไปศึกษาไปทัศนศึกษายังสถานที่จริง และทรงพระกรุณาสอนนักเรียนด้วยพระองค์เองด้วย

โครงการพระดาบส
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่เยาวชน และผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ในระหว่างเรียนโรงเรียนจะรับงานมาให้นักเรียนปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และหารายได้ให้แก่ผู้เรียน โดยดำเนินการในรูปสหกรณ์ โครงการนี้ผู้เข้าอบรมได้ไม่จำกัดเพศ วัย และวุฒิการศึกษา ผู้สมัครเข้าอบรมจึงมีทั้งเยาวชนที่มีฐานะยากจนไปถึง ตำรวจ ทหาร และพลเรือนที่ทุพพลภาพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า เปิดสอนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๙

 
พุทธศักราช ๒๕๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ในชื่อเดิมว่า มูลนิธิพระดาบส มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ พลตำรวจตรีสุชาติ  เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิ

สุดท้ายคือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มดำเนินการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ และเสร็จสิ้นลงในปี พุทธศักราช ๒๕๑๖ รวม ๓ ฉบับ ในสารานุกรมสำหรับเยาวชนมีครบทุกวิชา รวมทั้งความรู้ในด้านต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : ทัศนา  ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๘๑ - ๘๗