พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกจิตสำนึกให้ชาวไทยเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติ คือ การพูดต้องออกเสียงให้ชัดเจน ไม่นำภาษาอื่นมาพูดปนกับภาษาไทย และการเขียนต้องให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเพราะการทำให้ภาษาาไทยวิบัติจะทำภาษาไทยเสื่อมสลายไปในที่สุด..... ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้ทุกหน่วยงานน้อมรับอย่างเคร่งครัด วันภาษาไทยแห่งชาติจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
วันภาษาไทยแห่งชาติ
นอกจากจะเน้นเรื่องการเขียนการอ่านให้ถูกอักขระโดยไม่ให้นำภาษาอื่นเข้ามาปะปนในการอ่านและเขียนแล้ว ยังให้ประชาชนรู้จักอนุรักษ์หนังสืออันมีค่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือมีคุณค่าพระราชทานในการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เช่น ประชุมโคลงสุภาษิตในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก พระราชหัตถ์เลขาทรงสั่งราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ กับเรื่องประกอบแบบเรียนดุริยางค์สากลตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ และมงคล ๑๐๘ ในรอยพระพุทธบาท เป็นต้น
การอนุรักษ์แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่น
การอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่พักอาศัยของประชาชนยังเป็นเรือนไม้แบบเก่า เช่น บ้านเรือนไทยโบราณ บ้านเรือนไทยพื้นบ้าน บ้านเรือนแพเดิม และบ้านเรือนไทยร่วมสมัย ซึ่งอัมพวายังได้ชื่อว่า เมืองสามน้ำ อีกด้วย
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งของสมุทรสงคราม ที่ต้องอนุรักษ์ไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานทั่วไทยได้ศึกษากันอย่างภาคภูมิใจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเลือกตั้งอัญเชิญเป็นประธานของมูลนิธิตลอดมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราขหฤทัยเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กยากจนและไร้โอกาส ทรงถือว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาความคิดสติ ปัญญา ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นเป็นแหล่งศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และบุตรหลานของข้าราชบริพาร ต่อมาทรงพระราชทานราชทรัพย์ให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๕ จังหวัด สร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ต่อมาได้มีผู้โดยเสด็จ พระราชกุศลสร้างโรงเรียนสำหรับชาวเขาขึ้นชื่อว่า โรงเรียนสำหรับชาวเขา ต่อมาสร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นที่จังหวัดนครพนม สร้างโรงเรียนในวัดชื่อว่าโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาแก่เด็กหูหนวกตาบอด ปัญญาอ่อน โดยทรงพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นและพระราชทานเลี้ยงอาหารประจำปี หรือเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม เพื่อเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชประชาสมาชัย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้พัฒนาขึ้น และสามารถรับเด็กนักเรียนเข้าเรียนร่วมกับเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพได้ด้วย
ทรงฟื้นฟูทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นใหม่ เพื่อมอบทุนแก่นักเรียนที่จบการศึกษาได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศในชื่อว่า ทุนภูมิพล สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นเกียรติแก่บัณฑิตเหล่านั้น นับว่าเป็นพระราชภาระค่อนข้างหนัก เพราะแต่ละปีมีบัญฑิตจบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระแทน
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะให้เด็กยากจน และเด็กที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ ได้รับการถ่ายทอดสดทางวิชาการในระดับมาตรฐานเดียวกันกรมสมัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงรับข้อเสนอของเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษจัดทำโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลที่ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเลือกให้โรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดการศึกษาสายสามัญ ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมสู่โรงเรียนทั่วไป ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
"การศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประเทศชาติสืบต่อไป"
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดการศึกษาในโรงเรียนไกลกังวลให้ครบวงจร คือ ให้จัดการศึกษาตั้งแต่วัยอนุบาลจนจบการศึกษาระดับปริญญา ให้อยู่ในสถานศึกษาเดียวกันมีการเปิดหลักสูตรวิชาชีพระดับ ปวช. ปวส. และกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จัดตั้งหอสมุดราชมังคลาภิเษกเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าจองนักเรียนนักศึกษาและประชาชน นอกจากนี้ ยังเปิดวิทยบริการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือปรับปรุงมาตรฐานและสนับสนุนด้านการกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรีไทยและสากล ตลอดจนการฝึกวิชาทหาร และโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเข้าช่วยพัฒนากิจการถึง ๑๙ โรงเรียน
โรงเรียนไกลกังวล เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ นักเรียนในสมัยแรก คือ บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในวังไกลกังวลและบุตรหลานของชาวบ้านท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบทอดพระราชดำริของ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงรับโรงเรียนไกลกังวลเป็นโรงเรียนในพระองค์ และทรงทำนุบำรุงให้เจริญพัฒนาขึ้น จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔
สำหรับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ขณะนี้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ขยายออกไปสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญในพระอารามทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่มิใช่นักเรียนก็สามารถเปิดโทรทัศน์ชมรายการต่าง ๆ เพื่อศึกษาด้วยตนเองได้
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวน ๖ ชุดแก่มหาวิทยาลัยเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนามนำไปแปลสอนนักเรียน นักศึกษา ในปี ๒๕๔๑ และปีเดียวกันนี้ สถาบันแห่งชาติเนมิ แผนกวิจัยและพัฒนาประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ลงนามในหนังสือทำความตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการสอนภาษาต่างประเทศผ่านดาวเทียมด้วย เช่น ภาษาจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น
ต่อมาได้มีประเทศเพื่อนบ้าน ขอพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเผยแพร่การเรียนแก่นักเรียน นักศึกษาของตนอีก เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอนภาษาของตนผ่านโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมพร้อมวิชาอื่น ๆ ให้อีกด้วย
ปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ศึกษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีศูนย์การเรียนรู้ ๔ แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ในชิคาโก วัดป่าธรรมชาติ นครลอสแองเจลิส วัดไทยธรรมประทีป ฝรั่งเศสและวัดศรีนคริทราวราราม
ส่วนด้านภายในประเทศ ทรงจัดโครงการศึกษาทัศน์ นำนักเรียน นักศึกษา และครู จากโรงเรียนไกลกังวลออกไปศึกษาไปทัศนศึกษายังสถานที่จริง และทรงพระกรุณาสอนนักเรียนด้วยพระองค์เองด้วย
โครงการพระดาบส
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่เยาวชน และผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ในระหว่างเรียนโรงเรียนจะรับงานมาให้นักเรียนปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และหารายได้ให้แก่ผู้เรียน โดยดำเนินการในรูปสหกรณ์ โครงการนี้ผู้เข้าอบรมได้ไม่จำกัดเพศ วัย และวุฒิการศึกษา ผู้สมัครเข้าอบรมจึงมีทั้งเยาวชนที่มีฐานะยากจนไปถึง ตำรวจ ทหาร และพลเรือนที่ทุพพลภาพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า เปิดสอนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๙
พุทธศักราช ๒๕๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ในชื่อเดิมว่า มูลนิธิพระดาบส มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิ
สุดท้ายคือ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มดำเนินการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ และเสร็จสิ้นลงในปี พุทธศักราช ๒๕๑๖ รวม ๓ ฉบับ ในสารานุกรมสำหรับเยาวชนมีครบทุกวิชา รวมทั้งความรู้ในด้านต่างประเทศอีกด้วย
ที่มา : ทัศนา ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๘๑ - ๘๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น