พระปฐมบรมราชโองการใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชจักรีวงศ์ กรุงเทพมหานคร นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีศรีสินทรมหาสมุทร หรือ กรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ฝั่งบางกอก หรือที่เรียกกันว่า กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชธานีนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเปลี่ยนคำว่าบวร เป็นอมร นอกนั้นยังคงเดิม ประชาชนทั่วไปมักจะเรียกสั้น ๆ ว่ากรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ และชาวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกกันว่าบางกอก
ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเวลาได้ ๒๒๘ ปี มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เดียวกันครองราชย์สืบต่อกันมาแล้วรวมทั้งสิ้น ๘ รัชกาล พระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๙ มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะที่พระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ และประทับอยู่ในสหรัฐอเมริกา
พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
เมื่อแรกทรงพระราชสมภพ ทรงดำรงพระอิสริยศเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทาน พระนามต่อท้ายพระอิสริยยศว่า ภูมิพล ซึ่งมีความหมายว่า พลังของแผ่นดิน เป็นอำนาจที่หาใดเปรียบมิได้
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทิวงคตหลังจากทรงพระประชวรมาระยะหนึ่ง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงเจริญพระชนมายุไม่ถึง ๒ พรรษา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มการศึกษาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวีส ทรงศึกษาขั้นต้นที่มาแตร์เดอี ปทุมวัน เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มอง ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และ ภาษาอังกฤษ เป็นเวลา ๖ ปี โดย ๒ ปีสุดท้าย พระองค์ไม่ได้เสด็จไปกลับเหมือน ๔ ปีแรก เพราะสมเด็จพระราชชนนี ทรงจัดให้เข้าเป็นนักเรียนประจำ ที่ต้องช่วยเหลือตนเองทุกอย่าง จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแซลลี ซือ โลซานน์่่่่่่่่่่
๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลไทยจึงได้อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชจักรีวงศ์ พระวรรงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘
เนื่องจากที่ประทับเก่าคับแคบไป ไม่สมพระเกียรติ สมเด็จพระราชชนนีจึงจัดหาที่ประทับให้ใหม่เป็นบ้านขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ติดกับเมืองโลซานน์ พระราชทานชื่อว่า วิลลาวัฒนา ต่อมาสมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้น ต้องตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จนิวัตถึงเมืองไทย โดยประทับอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเป็นการชั่วคราวพร้อมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงสร้างขวัญกำลังใจและความหวังให้แก่ประชาชนไทยอย่างมั่นคง ขณะนั้นทั้ง ๔ พระองค์ประทับที่ประเทศไทยประมาณ ๒ เดือนจึงเสด็จฯ กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อทรงศึกษาต่อ
ครั้นปี พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงสอบไล่ และได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แห่งเมืองโลซานน์ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง ประทับยังพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ปีต่อมา ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยโท นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑ กองพันที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ พระบรมเชษฐาธิราช เสด็จทรงเยี่ยมประชาชนทั้งในเมืองและชนบทอย่างมิได้ขาดสาย
ครั้นต่อมาวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แต่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในการนี้โปรดให้ นายเปรื่อง ศิริภัทร พระอาจารย์ที่รัฐบาลไทยจัดส่งไปถวายพระอักษรภาษาไทย เพื่อเสริมความรู้ทางด้านศิลปและวัฒนธรรมของชาติ
แม้นจะทรงจบหลักสูตรหลายแขนงแล้ว ก็ยังทรงศึกษาต่อแขนงวิชาใหม่ ๆ อาทิ กฎหมาย และการปกครอง ณ มหาวิทยาลัยในโลซานน์ เพื่อให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับการเป็นพระประมุขของประเทศ
นอกจากสถานศึกษาทั่วไปแล้ว พระอาจารย์พระองค์แรกของพระองค์ก็คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จพระราชชนนี เริ่มต้นจากการให้ทุกพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ทั้งด้านจิตใจและการปฏิบัติและให้ทรงพัฒนาด้วยความคิดด้วย โดยยึดหลักการ ๙ ประการคือ
- ทรงดูแลให้ลูกมีสุขภาพอนามัยดี ร่างกายได้รับอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ
- ทรงฝึกให้มีระเบียบวินัยทั้งกายและใจ
- ทรงส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิด ให้รู้จักพัฒนาตัดสินใจด้วยตนเอง
- ทรงอบรมใหมีความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น
- ทรงอบรมให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และฝึกทำงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง
- ทรงอบรมสั่งสอนในเรื่องศาสนาจริยธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณา เป็นต้น
- ทรงอบรมให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
- ทรงดูแลให้เด็กได้สนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ตามวัย
- ทรงอบรมให้มีชีวิตเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย
ที่มา : ทัศนา ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๔๑ - ๔๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น