งานทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระราชหฤทัยไม่แพ้งานด้านอื่น ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นจอมทัพไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในและภายนอกของราชอาณาจักร ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนยังหน่วยปฏิบัติการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยามปกติ หรือเป็นยามที่มีการปฏิบัติการณ์ในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม
ทรงพระราชทานพระบรมราชนุเคราะห์แก่ ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ซึ่งถูกนำไปรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่ผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสำหรับผู้บาดเจ็บเมื่อหายดีแล้วแต่ยังพิการอยู่ ก็จะจัดการฝึกอาชีพ โดยจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอย่างสมเกียรติ
ในยามปกติ พระองค์จะเสด็จไปทรงเยี่ยมทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพ และตำรวจตระเวนชายแดนอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด แต่การฝึกยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีต่าง ๆ ของ ๓ เหล่าทัพและตำรวจตระเวนชายแดน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ และทรงประกอบพิธีเปิดค่ายทหารต่าง ๆ ทรงเยี่ยมสถานศึกษาของนักเรียนทหาร และพระราชาทานกระบี่แก่นักเรียนผู้สำเร็จการศึกษา พระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร และเข็มวิทยฐานะแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลับป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพอากาศ วิทยาลัยการทัพเรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหาร ตำรวจ และพระราชทานชื่อเรือรบ และที่สำคัญคือ พระราชทานคำแนะนำแก่กองทัพในการพัฒนาสร้างยุทโธปกรณ์ และพาหนะที่จำเป็นขึ้นใช้เอง
ที่สำคัญคือ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่หน่วยทหาร ๓ เหล่าทัพ ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า องค์พระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกับกองทัพด้วย พระราชทานเพลงธงชัยเฉลิมพล เพลงมาร์ชราชวัลลภ และเพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน เพื่อใช้ในการสวนสนาม
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของลูกเสือและลูกเสือชาวบ้านอีกด้วยในด้านของกิจการลูกเสือชาวบ้านนั้น ทรงนำเอาหลักการของลูกเสือมาแนะนำการยุทธวิธีแก่ชาวบ้านในทุกระดับและอาชีพ ทรงพระราชทานเหรียญลูกเสือให้กับผู้บังคับบัญชาการลูกเสือ เพื่อรับเหรียญลูกเสือสดุดี ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานในตอนหนึ่งดังนี้
".....การลูกเสือเป็นปัจจัยส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญมั่นคงของบ้านเมือง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะได้มองเห็นว่าการฝึกหัดอบรมอย่างถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผนและวิธีการของลูกเสือ เป็นการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงส่งเสริมบุคคลไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ให้มีคุณสมบัติในตนเองสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง เช่น ให้มีความเข้มแข็ง อดทน ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เสียสละ มีความสุจริตซื่อตรง มีความตื่นตัว ประกอบด้วยเชาว์ไหวพริบ รู้จักใช้ความรู้ความคิดอย่างฉลาดและมีวินัยที่ดีประจำตัว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สามารถพึ่งตนเอง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมได้....."
ที่มา : ทัศนา ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๙๑ - ๙๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น