ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตรสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อพระราชประสงค์ที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งโครงการใหญ่และโครงการย่อย ดังนี้
โครงการใหญ่ทรงแบ่งออกเป็น ๒ โครงการคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นการทดลองวิจัยเพื่อหาองค์ความสำหรับนำมาพัฒนาด้านการเกษตร และโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการทดลองแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อจำหน่ายและนำกำไรมาขยายงานเพิ่ม ซึ่งโครงการนี้ได้ขยายเป็นโครงการย่อยได้ถึง ๒๐ สาขาโครงการ อันได้แก่
โครงการนมสวนจิตรลดา ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา โรงน้ำดื่ม โรงนมยูเอชทีสวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงบดแกลบ โรงงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โรงงานน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรซ์ โรงงานน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง โรงผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง โรงหล่อเทียนหลวง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงกระถางผักตบชวา โรงพืชสมุนไพร โรงเพาะเห็ด โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทอง ร้านหัตถกรรมศิลป์
โครงการหลวงมีครอบคลุมอยู่ ๕ จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนภาคเหนือ ในปี ๒๕๑๒ ทอดพระเนตรเห็นชาวสวนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ตัดไม้ทำลายป่า และแถบนั้นยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือ จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ มีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการหลวง ครั้นถึงปี ๒๕๓๕ ยกระดับขึ้นเป็น มูลนิธิโครงการหลวง ประธานมูลนิธิยังคงเป็นผู้อำนวยการโครงการหลวงเดิม
การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเมืองหนาวตั้งแต่ผักไปจนถึงผลไม้กว่า ๕๐ ชนิด ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งเน้นสนองความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะครอบคลุม ๕ จังหวัดภาคเหนือแล้ว ยังมีสถานีวิจัยอีก ๖ แห่ง มีศูนย์โครงการหลวง ๓๔ แห่ง และมีหมู่บ้านพัฒนาอีกหมู่บ้าน
คนไทยชาวภูเขาทางภาคเหนือได้ชีวิตใหม่จากมูลนิธิโครงการหลวง เลิกไร่ฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า หันมาทำไร่ผักผลไม้แทน ดอกไม้เมืองหนาวและป่าอนุรักษ์ มีผลผลิตจากโครงการหลวงภายใต้ทะเบียนการค้าดอยคำ ดังนั้น ชาวไทยภูเขาทุกคนที่ได้ชีวิตใหม่จึงไม่ลืมคำขวัญโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ว่า
"ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่า ประชาชนชาวท้องถิ่นทั้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่พระองค์เสด็จไปทรงดูมาส่วนใหญ่ขาดไอโอดีนที่เป็นธาตุสำคัญต่อร่างกาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกลือผสมไอโอดีนผ่านกระทรวงสาธารณสุข นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่ออนามัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่า เกลือพระราชทาน
เหตุนี้ โครงการแพทย์และสาธารณสุขจึงเกิดขึ้น
ในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในเมืองและชนบทห่างไกล ด้วยการแก้ไจปัญหาเฉพาะหน้า เริ่มด้วยทรงบริจาคทุนทรัพย์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อกิจการด้านการผลิตวัคซีน และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉายภาพส่วนพระองค์ หารายได้สร้างตึกในสภากาชาดไทยและอื่น ๆ
ปี ๒๔๙๕ ประเทศไทยเกิดโรคระบาดใหญ่เกี่ยวกับโรคไขสันหลังอักเสบ ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะพิการ แขนขาไร้กำลัง กล้ามเนื้อและระบบหายใจเป็นอัมพาต ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานทรัพย์ให้กระทรวงสาธารณสุข ซื้อปอดเหล็กให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรักษาผู้ป่วย ๓ เครื่อง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อส. ประกาศเชิญบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อจัดตั้งมูลนิธิโปลิโอสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและซื้อเครื่องมือในการรักษาโรค
ต่อมาเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ ทรงจัดหาวัคซีนป้องกันและบำบัดโรค ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กองวิทยาศาสตร์สภากาชาดไทย จัดซื้อเครื่องมือในการผลิตวัคซีน ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถผลิตวัคซีนตัวอื่น ๆ ได้ด้วย จากนั้น ทรงพระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยการสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือที่มีคุณภาพ
สถาบันราชประชาสมาสัย ถูกก่อตั้งขึ้นในชื่อนี้ โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถานพยาบาลพระประแดง เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ร่วมดำเนินการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจะจัดตัวผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อแยกอยู่ออกไปเป็นสัดส่วน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขจะได้มีสถาบันวิจัยโรค และฝึกบุคลากรสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขจึงกราบบังคมให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ทุนอานันทมหิดล ให้ดำเนินการ
เด็กที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อทรงพระคำนึงถึงราษฎรที่อยู่ตามริมน้ำคูคลอง เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ไม่สามารถที่จะเดินทางไปรักษาที่สถานพยาบาลได้ เนื่องจากหนทางยาวไกล เรือเวชพาหน์ โครงการหลวงพระราชทานจึงเกิดขึ้น โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีแพทย์ไปตรวจเยี่ยมตามถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ เมื่องานขยาย แพทย์ไม่พอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ออกไปตรวจรักษาราษฎรต่อตั้งแต่เรื่องฟันไปจนถึงอาการไข้อื่น ๆ เรียกหน่วยแพทย์นี้ว่า หน่วยแพทย์พระราชทาน
ต่อมาได้เกิดหน่วยแพทย์ขึ้นมากมาย อาทิ โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และภูมิแพ้พระราชทานโครงการอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่ง จัดตั้งบริษัทบ้านบึงเวชกิจจำกัด และคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนา คลินิกนี้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ตรวจรักษาและบริการทางการแพทย์ ตลอดจนฟื้นฟูสุขภาพประชาชนทั่วไป โดยไม่มุ่งหวังกำไร
แปลงสาธิตพืชสมุนไพร ซึ่งทรงจัดสร้างขึ้นในสวนจิตรลดาเมื่อปี ๒๕๒๙ เพื่อการศึกษาโดยทรงจัดเป็นหมวดหมู่ หาง่าย ดูง่าย ศึกษาง่าย มาจนถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีโครงการหนึ่งที่โด่งดังมากคือ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่มา : ทัศนา ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๑๐๓ - ๑๐๗
ที่มา : ทัศนา ทัศนมิตร : "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" หน้า ๑๐๓ - ๑๐๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น